ศักยภาพทางการท่องเที่ยว หรือต้นทุนทางการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ มีครบทุกด้าน ศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ความสมบูรณ์ สมดุลทางธรรมชาติ ยังคงมีอยู่จำนวนหลายแห่ง เพราะจังหวัดแพร่เป็นจังหวัดขนาดพอดี ดังนั้นการพัฒนาทางการท่องเที่ยว จึงเป็นไปอย่างมีระบบ และ ไม่ก้าวกระโดด ทำให้แหล่งท่องเที่ยวยังคงบริสุทธิ์ และไม่ถูกทำลาย ในหลายภาคส่วนของจังหวัดแพร่ เตรียมบูรณาการ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ คือเส้นทางสายลอยฟ้า ในอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน โดยมีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็น และ แนวทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดแพร่ที่เกี่ยวข้อง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13. ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทแพร่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่11 พิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนาจังหวัดแพร่ โดยการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างสมดุล โดยมีประเด็นสำคัญคือ แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11พิษณุโลก จำนวน 2 จุด ได้แก่น้ำตกเชิงทอง ภูพญาพ่อ หรือเส้นทางลอยฟ้า แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำน้ำน่านฝั่งขวา จังหวัดแพร่และอุตรดิตถ์ จำนวน 1 จุด คือ โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าช้างผาด่าน จำนวน 1 แห่ง คือ จุดชมวิวช้างผาด่าน "ผาหิน" โดยที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ประสานองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ในการสำรวจออกแบบการปรับปรุงและก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยว ประกอบกับขออนุญาตไปยังกรมต้นสังกัดเพื่อจัดทำโครงการของบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดแพร่ ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567ทั้งนี้ สำหรับการปรับปรุง ซ่อมแซมสถานที่ ให้ขอความอนุเคราะห์องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ซึ่งมีศักยภาพ และมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม สถานที่ในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจ และลงพื้นที่ ที่สำคัญ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบกับชุมชน และ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ให้น้อยที่สุดโดยทำให้คนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขเอื้อประโยชน์ให้แก่กันโดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ท่องเที่ยว เพราะอย่างไรแล้ว คนกับป่า ก็อยู่คู่กันมานาน ป่าคือซุปเปอร์มาร์เก็ตของคนในชุมชนที่พึ่งพากัน คนหาอาหารได้จากป่าสร้างรายได้เลี้ยงชีพ และ ป่า ก็ถูกรักษาโดยคนในชุมชนเช่นกัน ในการบูรณาการครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะหาแนวทางให้ก่อเกิดรายได้ทางการท่องเที่ยวเสริมเข้ามาอีกทาง โดยเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย และ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีชุมชนต้นแบบ ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยการจัดลงพื้นที่จริงให้หน่วยงาน และ สื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาดูงาน พื้นที่ ชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการ และนำมาต่อยอดความคิด และหาแนวทางให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ++++++++++++