ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล “ชีวิตมันคือความวุ่นวายสับสน อยู่ที่ว่าเราจะจัดระเบียบกับชีวิตนั้นอย่างไร” ผมรู้จักพ่อใหญ่สอนจากลูกศิษย์ของผมคนหนึ่ง ที่ต่อมาได้มาเป็นผู้ช่วยวิจัยในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของผมเมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยเขาจะมีหน้าที่พาผมไปสัมภาษณ์ผู้คนตามที่กำหนดไว้ในงานวิจัย จากนั้นเขาจะต้องถอดเสียงพูดในเครื่องอัดเสียงแล้วพิมพ์เป็นไฟล์ข้อความลงในโน้ตบุ๊ค ก่อนที่จะส่งมาให้ผมได้อ่านแล้วนำเอาไปใช้ในการวิจัย เราไปสัมภาษณ์ในหลาย ๆ จังหวัดอยู่หลายช่วง แต่ละช่วงเป็นเวลา 4-5 วัน ผมนอนห้องเดียวกันกับเขาเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และเราก็ได้คุยกันทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงก่อนเข้านอน ครั้งหนึ่งเราไปสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านในอำเภอมัญจาคีรี ที่จังหวัดขอนแก่น ผู้ช่วยวิจัยของผมพูดขึ้นภายหลังการสัมภาษณ์ว่า “เสียดายไม่ได้ไปสัมภาษณ์พ่อใหญ่สอน แกมีความรู้เยอะมาก” ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าพ่อใหญ่สอนคือใคร และแก “รู้อะไร” ซึ่งหลังจากที่เริ่มต้นการพูดคุยกันในวันนั้นแล้ว เราก็คุยกันเรื่องพ่อใหญ่สอนนี้ต่อมาอีกหลายวันในการออกวิจัยในทุกช่วง จนทำให้ผมได้ทราบเรื่องราวของพ่อใหญ่สอนมากพอสมควร ซึ่งผมก็ทึ่งในความรู้อันหลากหลายของพ่อใหญ่สอนนั้นด้วย พ่อใหญ่สอนเกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ตรงรอยต่อระหว่างอำเภอมัญจาคีรีกับอำเภอเมืองขอนแก่น ไม่มีใครรู้ว่าแกเกิดเมื่อไหร่ แต่น่าจะเกิดราว พ.ศ. 2455 เพราะปู่ของผู้ช่วยวิจัยของผมที่รู้จักกับพ่อใหญ่สอนเป็นอย่างดีเล่าให้ผู้ช่วยวิจัยของผมฟังว่า พอมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 พ่อใหญ่สอนก็มีอายุครบบวชในปีนั้น แต่ก็บวชอยู่ได้เพียง 4 - 5 ปีก็สึกออกมาแต่งงาน พ่อใหญ่สอนมีเมีย 3 คน คนแรกเป็นลูกสาวครูใหญ่ที่โรงเรียนใกล้วัดในตัวเมืองขอนแก่นที่แกบวช และก็เป็นคนให้แกสึกออกมาแต่งงานนั่นเอง แต่แล้วก็หย่ากันในอีก 2 - 3 ปีต่อมา แล้วแกก็กลับมาอยู่บ้านที่มัญจาคีรี เพื่อรับมรดกอาชีพทำนาต่อจากพ่อแม่ที่แก่เฒ่า แล้วก็มาได้เมียคนที่สองเป็นคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน คนนี้อยู่ด้วยกันได้สิบกว่าปีก็หนีแกไปอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อแกเข้ามาตามหาเมียที่กรุงเทพฯอยู่เป็นปีแต่ก็หาไม่เจอ ทำให้แกได้พบกับเมียคนที่สาม และตามเมียคนที่สามนี้ไปอยู่ที่ร้อยเอ็ดหลายปี เมื่อพ่อแม่แกตาย แกก็พาเมียคนนี้มาอยู่ที่มัญจาคีรี ซึ่งเมียคนนี้ได้ตายจากแกไปตอนที่ฉลองกรุงเทพฯ 200 ปี แกไม่มีลูกกับเมียคนไหนเลย จึงใช้ชีวิตตามลำพังคนเดียวอยู่ในหมู่บ้าน โดยที่นาที่ได้มรดกมาแกยกให้พี่น้องไปทั้งหมด เหลือไว้แต่ที่ดินพอปลูกบ้านอยู่ข้างวัดสัก 2 งาน ยังชีพอยู่ได้ด้วยการ “ทำประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ” ให้แก่ผู้คนทั้งในและนอกหมู่บ้าน จนกระทั่งได้เสียชีวิตไปตอนปี 2540 ในวัย 85 ปี พ่อใหญ่สอนได้รับการยกย่องจากคนในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงว่าเป็น “ยาครู” (เป็นคำยกย่องอย่างสูงในภาษาเก่าแก่ของคนในภาคอีสาน หมายถึงครูของผู้รู้ คือเป็นครูที่สามารถสอนครูบาอาจารย์อื่น ๆ ได้อีกด้วย ถ้าเป็นในสมัยหลังอาจจะเรียกว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” นั่นเอง) โดยแกชอบให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือแก่ผู้คน เริ่มจากคนเฒ่าคนแก่ที่มีปัญหาถูกลูกหลานทอดทิ้ง ไปจนถึงเด็ก ๆ ที่เกกมะเหรกเกเรที่พ่อแม่เอือมระอา แต่แกก็ชอบเข้าไปพูดคุยและช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ไม่เว้นแต่แมวหมาและสัตว์ต่าง ๆ ที่มีคนเห็นว่าแกไปสอนให้คนที่เลี้ยง “เปลี่ยนวิธีดูแล” เสียใหม่ ตลอดจนเรื่องหยูกยาและอาหารการกิน ที่แกมักจะมีข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในเรื่องเหล่านั้นอยู่เสมอ ต่อไปคือเรื่องราวชีวิตของพ่อใหญ่สอนในวัยเด็ก เด็กชายสอนเกิดมาไม่ค่อยแข็งแรงนัก ตอนที่คลอดมาใหม่ ๆ ตัวเล็กมาก พ่อแม่เลยตั้งชื่อว่า “บักจ่อย” (“จ่อย” ภาษาอีสานแปลว่า “ผอม”) พออยู่มาได้สิบกว่าวันก็ป่วยมีไข้สูง ตัวร้อนจัดจนเกิดอาการชัก โชคดีที่มีผู้เฒ่าที่รู้เรื่องยาอยู่ในหมู่บ้าน แม่จึงอุ้มไปให้กวาดยา หลังจากเอาน้ำเช็ดตัวแล้ว ไข้ก็ลดลง พออายุได้สัก 5 เดือนก็เป็นไข้หนักอีก ทีนี้ออกอาการตัวเขียวหน้าเขียว มีคนแนะนำให้เอาน้ำต้มข้าวป้อนกับน้ำนม เอาน้ำอุ่นนวดมือนวดเท้าและเช็ดตัว ก็ฟื้นคืนดีขึ้นมา พอขวบกว่าเริ่มเดินเตาะแตะก็ไปจับปูนาที่ไต่เข้ามาบนบ้านตอนฝนตกเข้าปาก ก้ามปูติดคอหายใจไม่ออกจนหน้าและตัวซีดช้ำ ต้องไปให้พ่อหมอที่เคยช่วยตอนเป็นไข้ชักล้วงเอาออก เรียกว่า “เฉียดตาย” หลายครั้งมาตั้งแต่เด็ก ๆ อีกทั้งเป็นเด็กโยเยเลี้ยงยาก มีเรื่องให้ใจหายใจคว่ำอยู่เสมอ ที่สุดพ่อแม่ต้องเอาไป “ประเคน” หรือถวายให้เป็นลูกของหลวงพ่อที่วัด และให้เรียกชื่อใหม่ว่า “บักเคน” พออายุได้ 10 ขวบ ด้วยร่างกายขี้โรคอ่อนแอ ทำให้บักเคนไม่ได้ไปช่วยพ่อแม่ที่ต้องไปทำนานั้นเลย ในขณะที่เด็กในวัยเดียวกันช่วยเลี้ยงควาย และสามารถลงนาช่วยถอนกล้าและดำนาได้แล้ว แต่บักเคนต้องอยู่แต่ในร่ม แต่ในเถียงนา(กระท่อมเล็ก ๆ กลางนา) ทั้งที่อยากจะไปช่วยพ่อแม่กับพี่น้องคนอื่นอยู่เหมือนกัน แต่พอออกไปโดนแดดทีไรก็จะตัวร้อนและไข้ขึ้นเสียทุกที วันหนึ่งบักเคนรู้มาว่าหลวงพ่อจะเข้าไปจำพรรษาในตัวจังหวัดขอนแก่น และได้ยินมาว่าทางรถไฟได้สร้างมาถึงขอนแก่นแล้ว ใจนั้นอยากจะได้เห็นรถไฟอยู่เป็นทุนเดิม จึงขอตามหลวงพ่อไปที่ตัวจังหวัด ไปช่วยเป็นเด็กวัดปรนนิบัติหลวงพ่อ และอาจจะได้เรียนหนังสือที่วัดในเมืองนั้น เมื่อพ่อแม่ไปขอหลวงพ่อ ๆ ก็เห็นดีด้วย และให้บักเคนได้ไปกับหลวงพ่อที่ในเมือง ออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อกลับมาที่หมู่บ้าน แต่บักเคนได้อยู่ต่อที่วัด เพราะเป็นที่ถูกอัธยาศัยของหลวงพี่ที่ดูแล ทั้งยังขยันตั้งใจเรียนหนังสือ ซึ่งหลวงพ่อได้มาบอกพ่อแม่ พ่อแม่ก็ตามใจและเห็นด้วยกับหลวงพ่อ บักเคนเรียนจบชั้นประถมปลายแล้วแล้วก็อยากเข้าเรียนต่อชั้นมัธยม แต่ด้วยทุนรอนที่จำกัด ถ้าเป็นฆราวาสจะต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ พอสมควร แม้จะไม่มากแต่ก็ไม่เหมาะกับคนที่มีฐานะยากจน บักเคนจึงปรึกษาหลวงพี่ หลวงพี่บอกว่าถ้าบวชเป็นเณรอาจจะฝากเข้าเรียนที่วัดพระธาตุซึ่งมีชั้นเรียนมัธยมสำหรับพระ ก็น่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร และพวกโยมก็ชอบที่จะมาเป็นอุปัฏฐาก ทำบุญกับพระที่ชอบเรียนนี้อยู่มากด้วย บักเคนจึงบวชเป็นเณร พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “สมสอน” แต่คนชอบเรียกว่าสั้น ๆ ว่า “เณรสอน” อันเป็นชื่อที่ติดตัวมาจนตลอดชีวิตนั้น แม้ในสำมะโนครัวของวัดที่สอนย้ายเข้ามาอยู่จะใช้ชื่อว่า “สามเณรสมสอน” โดยปวารณาตัวว่าถ้าพ่อแม่ไม่ว่าอะไรจะขออยู่ในสมณเพศนี้ไปโดยตลอด ซึ่งพ่อกับแม่ก็อนุญาต แต่พอเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว พร้อมกับที่สอบได้เปรียญธรรม 2 ก็ถึงอายุที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว พระสอนก็ตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมให้ได้ชั้นสูงที่สุด ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปได้ตามนั้น ถ้าไม่มี “มารผจญ” หรือเหตุที่ทำให้พระสอนต้องลาสิกขาออกมาเสียก่อน ด้วยบทเรียนที่มีราคาแพงมาก ๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต บทเรียนแรกของพระสอนนั้นก็คือ “อย่าให้ใครมาจัดการตัวเราก่อนที่เราจะจัดการตัวเอง”