ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต ปีพ.ศ.2519 ความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงระหว่างชนชั้นล่าง นิสิต นักศึกษา กับฝ่ายรัฐบาล ถือเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่การทำลายล้างทั้งร่างกายและจิตใจที่รุนแรงที่สุดระหว่างกัน...เท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย หมู่คนรวย และชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้นที่ผูกขาดอำนาจทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ในมืออย่างเหนียวแน่นโดยไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร ทั้งที่กระแสการต่อสู้ที่นำโดยนิสิตนักศึกษาและหมู่เหล่าคนจนต่างมุ่งหวังถึงการกระจายอำนาจในหมู่ชนกลุ่มต่างๆ ให้มีสิทธิ์มีเสียง มีพลังร่วมกันที่จะต่อสู้กับกลุ่มที่มี “อำนาจเหนือ” กลุ่มอื่นๆในสังคม... ปรากฏการณ์แห่งการเข่นฆ่า โดยเฉพาะกับกลุ่มชาวนาชาวไร่ ซึ่งขณะนั้นมีความพยายามที่จะรวมกันก่อตั้งเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ด้วยอุดมคติ เพื่อธำรงสถานะของตนให้มีความเป็นปึกแผ่นและมั่นคงในสังคม แต่กลับถูกเบี่ยงเบนสถานการณ์ให้เข้าใจไปว่า เป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายอันร้อนร้ายต่อบ้านเมือง...สร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด และเคลือบแคลงจนนำไปสู่ภาวะของการปั่นสถานการณ์กระทั่งเกิดการเข่นฆ่าที่โหดร้ายขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า... แน่นอนที่สุดว่า...ความหวังอันเป็นอุดมคติที่เกิดขึ้นนับเนื่องจากเดือนตุลาคมปีพ.ศ.2516 อันมีทีท่าว่าจะแผ่ขยายไปทั่วประเทศและกับคนในทุกระดับชั้น ก็ถึงกาละที่ต้องหยุดชะงักลง...ด้วยอำนาจมืดที่คุกคามโดยเฉพาะจาก “กระบอกปืน” ชาวไร่ชาวนายังคงไร้อำนาจ และคงไม่มีโอกาสที่จะมีอำนาจในการเรียกร้องต่อรองราคาพืชผล ชาวไร่ชาวนารายย่อยยังคงต้องขายที่ดินพักหนี้สินจาก”เถ้าแก่”...นายทุนผู้เป็นเจ้าของที่ดินผืนใหญ่...ความพยายามต่อสู้ขัดขืนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ซ้ำซาก...การพยายามเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆทั้งในเมืองและชนบทกลายเป็นชนวนแห่งสงครามที่รุนแรงและยังหาข้อสรุปอันเป็นศานติไม่พบ เรื่องราวการต่อสู้ของชาวนาใน “ตำบลช่อมะกอก” ประพันธกรรมจากความเป็นจริงของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2519...ถือเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต...เพื่อชนชั้นล่างที่ถูกระบุให้เป็นวรรณกรรมต้องห้ามตามคำสั่งอำนาจของ “ผู้ควบคุมการเมือง” ในช่วงเวลานั้นที่เปี่ยมเต็มไปด้วยพลังหลงใหลในอำนาจเผด็จการ ...ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือแม้แต่นักเขียนบางคนที่ยอมตนลงไปเป็นลิ่วล้อรับใช้อำนาจเผด็จการ เพื่อกลับมาประหัตประหารเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน “ตำบลช่อมะกอก” เปรียบดั่งฉากสมมติของพื้นที่ชนบทที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่งดงาม ผู้คนรักในความสงบด้วยวิถีชีวิตของความเป็นชาวไร่ชาวนามาแต่ครั้งบรรพบุรุษ...ไม่มีใครที่ปรารถนา “สงครามหรือการเข่นฆ่า”แต่ด้วยภาวะแห่งการแสวงหาอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้ที่อยู่เบื้องบน...ก็ต้องทำให้คนในตำบลนี้ต้องประดิษฐ์ปืนแก๊บขึ้นมา เพื่อป้องกันชีวิตและธำรงความอยู่รอดเอาไว้...สถานการณ์ที่ผิดกฎหมายเกิดขึ้นในท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า.. “ดินแดนที่ล้าหลังในประเทศอันผุโทรมเช่นนี้ โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดคือ “ไข้จากปากกระบอกปืน” ชีวิตของผู้คนราคาถูกกว่าลูกตะกั่ว..ผู้ยากไร้ต้องตกอยู่ในภาวะที่ประสาทขมึงเครียด...ในยามที่แสงตะเกียงสว่างขึ้นก็เหมือนดั่งผีร้ายกระหายเลือดเริ่มออกหากินด้วยการสูบเลือดสูบเนื้อผู้คน...วัวควายของชาวนาบางคนที่เคยเข้าร่วมประท้วง เคยไปเดินขบวนที่เมืองหลวง มักถูกลักขโมยเป็นประจำ” “วัฒน์” เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาขณะที่ทำงานเป็นนักข่าว..และได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง มาจากสถานการณ์ที่ชาวนาได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆในช่วงเวลานั้น เพื่อความยุติธรรมต่อพวกเขา แต่ผู้นำสหพันธ์ชาวนากลับถูกสังหาร...ทำไมชาวนาจึงมาต่อสู้?...และทำไมพวกเขาจึงเป็นดั่งกบฏ? ชื่อของตัวละครเอกในตำบลช่อมะกอกคือ “ชัย ช่อมะกอก” ทำให้หลายๆคนที่อยู่ร่วมในสมัยนั้นต้องนึกถึง “ใช่ วังตะกู”ผู้นำสหพันธ์ชาวนาตัวจริงเมื่อครั้งนั้น และคงต้องนึกถึงแรงบันดาลใจอันเป็นเหตุผลแห่งการต่อสู้ของพวกเขา “การต่อสู้ของพวกเรา...ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน แต่มันขัดผลประโยชน์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง...พวกมันเป็นบุคคลที่มีอำนาจ มันเคยเอาชาวไร่ชาวนามาเป็นทาสมัน มันต้องการเอาชาวไร่ชาวนาเป็นทาสของพวกมันตลอดชาติ...เมื่อชาวไร่ชาวนาเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก็หาว่าก่อความวุ่นวายและทำลายความสงบสุข...กล่าวหาว่า ผู้นำชาวไร่ชาวนาเป็นคอมมิวนิสต์...ลูกชาวไร่ชาวนาต้องไปเป็นทหารรักษาเก้าอี้ให้พวกมันอยู่ดีกินดี...ให้พวกมันอยู่ในห้องแอร์ ...นี่เราทำไว้เพื่อใคร?...ชาวนาชาวไร่รักษาแผ่นดินไว้ให้ใคร?...” คำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนนี้ ถูกถามไถ่ติดต่อกันมาแม้จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ สถานะของชาวนาชาวไร่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ตรงกันข้าม...ที่ดินทำกินที่เคยต่อสู้กันมาในอดีต กลับตกเป็นของนายทุน ทั้งนายทุนต่างชาติและนายทุนผูกขาดในประเทศผืนแล้วผืนเล่า...จากผืนที่นาที่ใช้ทำการเกษตรกลับกลายเป็นพื้นที่ของโครงการบ้านจัดสรรที่รอวันพินาศอยู่โครงการแล้วโครงการเล่า...ทั้งในเมืองและชนบท ...ปรากฏการณ์แห่งยุคสมัยที่เกิดขึ้นกับชาวนาและผืนที่นานับแต่วันนั้น บางขณะกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากปราชญ์ของสังคมบางคนว่า...เป็นเพราะชาวนาไทยนั้นอ่อนแอ และไม่พยายามโงหัวขึ้นมาต่อสู้เพื่อสถานะของตนเอง..ที่สำคัญยังมีการระบุอีกว่า..ชาวนาไทยไม่รักศักดิ์ศรีและไม่พยายามสอนสั่งให้ลูกหลานภูมิใจในสถานะอาชีพและพยายามกลับไปพลิกฟื้นความเป็น “ชาวนา” ของชาติตระกูลขึ้นมาอีก...คำกล่าวว่าดั่งนี้...ฟังดูเผินๆคล้ายดั่งจะเป็นจริง แต่ด้วยสายธารแห่งกระบวนการต่อสู้ที่ต่อเนื่องกันมายาวนานนับแต่อดีต..เราก็คงจะตระหนักกันได้ว่า...กลไกระหว่างรัฐกับชาวนา ตลอดจนสถานะอันเกี่ยวเนื่องกับความจริงแท้และความจริงลวงนั้น...ชาวนาได้ใช้ความคิดและการกระทำต่อภาวการณ์ดังกล่าวนี้ในเชิงการต่อสู้อย่างไรบ้าง และต้องประสบกับชะตากรรมอันขมขื่นเช่นไร? “เราตายเพื่อปากท้องของคนหมู่มาก เพื่อสิทธิประชาธิปไตยของคนจน เพื่อรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่ตายเหมือนทาสรับใช้..เราต่อสู้เพื่ออนาคต ทุกวันนี้กำลังเราน้อย เราต้องรวมพลังกันต่อสู้...ไม่มีการท้อถอย หนามยอกเราต้องเอาหนามบ่ง..ความพลาดพลั้งจะเป็นบทเรียน เรายังสู้เขาไม่ได้ แต่เราก็ต้องกัดฟันทนฝ่าอุปสรรคทุกวิถีทาง เราต้องอาศัยกำลังมวลชน พี่น้องชาวไร่ชาวนาที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรม” โครงสร้างของตัวละครและเรื่องราวต่างๆที่ปรากฏใน “ตำบลช่อมะกอก”..เป็นโครงสร้างที่จัดวางไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะของตัวละครในแต่ละฝ่าย ตลอดจนบทบาทของพวกเขาที่ดำเนินไปอย่างมีเงื่อนงำ.. “ขุนพิทักษ์ธรณี” คือตัวแทนของผู้ใช้อำนาจเบื้องบน... “ใครๆก็รู้ว่า สมัยเป็นนายอำเภอ ขุนโจร มหาโจร ขึ้นชื่อลือชา หรือไอ้เสือหนังเหนียวขนาดไหน เจอลูกตบนายอำเภอ”ขุนพิทักษ์ธรณี”ไอ้เสือก็กลายเป็นลูกแมวเชื่องๆ..คุกไม่ได้มีไว้ขังหมานะโว้ย” “จอม”...ผู้เคยดื่มน้ำมนต์ขันเดียวกับ “ชัย ช่อมะกอก”และสาบานว่าจะรักและเป็นพี่น้องกัน กลับมีชีวิตที่ต้องดิ้นรน... “ เป็นไอ้จ้อนนักเลงหัวไม้ไร้ศักดิ์ศรี เป็นเพียงผ้าขี้ริ้วสำหรับท่านขุนหรือกำนันโอ๊ะจิกหัวใช้...เป็นลูกไล่ให้เจ้าอั้นลูกกำนันโอ๊ะ” “กำนันโอ๊ะและเจ้าอั้นลูกชาย” เปรียบดั่งตัวเสนียดที่อยู่ในวงราชการ มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์ปกป้องชุมชน แต่กลับใช้อำนาจนั้นสร้างแต่ความชั่วร้ายและทำลายคนดี ...เป็นเจ้าที่ดินแห่งความเห็นแก่ตัว... “ครูสาว”ซึ่งในเรื่องคือตัวแทนของความดีงามแต่กลับถูกกลั่นแกล้งทำร้ายรังแกจากลูกชายของผู้มีอำนาจในตำบลอย่างไร้ค่า.. ส่วนตัวละครอย่างหนูแหวนแขนอ่อน ตาดีมือแป ตาสาขาเป๋ เหล่านี้ เปรียบได้ดั่งความไม่สมประกอบของชนชั้นล่างซึ่งสิ่งต่างๆที่พวกเขารู้และรับรู้คือสิ่งที่เขา “ไม่รู้อะไรเลย” “วัฒน์”..ได้นำเอาบทบาทของตัวละครทั้งหมดนี้ มาหลอมรวมกันเพื่อชี้ให้เห็นถึงภาพความจริงแห่งอุดมคติ และภาพความเป็นจริงแห่งความเป็นไปของสังคมอันโหดร้าย ......หลังจากถูกกระทำย่ำยี..โดยคนร้ายที่เป็นเจ้าที่ดินและลูกหลานของผู้มีอำนาจทางกฎหมาย...กำลังใจที่ได้รับจากชาวบ้านธรรมดาๆ ก็ทำให้”ครูสาว”ผู้ยึดถืออุดมการณ์ได้ข้อตระหนักที่งดงามและชัดเจนในชีวิตว่า.. “ฉันแน่ใจว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับฉัน ไม่ได้ทำให้ฉันต้องถดถอยเลิกรา คนเหล่านั้นไม่ใช่หรือที่ทำให้โลกมีชีวิตชีวาด้วยการใช้แรงงาน คนเหล่านั้นไม่ใช่หรือที่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับฉัน เพื่อนที่ร่วมต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมทั้งมวล” ในทรรศนะส่วนตัวของผม ผมถือว่าตัวละครใน”ตำบลช่อมะกอก”ทุกตังล้วนมีความหมาย มีบทบาทแสดงเฉพาะตน ที่สะท้อนภาพของสังคมวงกว้างของประเทศที่เป็นเหมือนกันหมด...ไม่เฉพาะตำบลใดตำบลหนึ่งหรือ ณ ที่ใดที่หนึ่ง...ความเป็นไปดังกล่าวนี้สืบเนื่องกันมาช้านาน เพียงแต่ว่าวันนี้ เราแทบไม่มีคนอย่าง “ชัย ช่อมะกอก” “ครูสาว...ผู้มีอุดมคติ”...อยู่ ณ ที่ที่จำเป็นต้องต่อสู้...แต่เรากลับมีคนอย่าง “ขุนพิทักษ์ธรณี” “กำนันโอ๊ะและลูกชาย”...ซึ่งบทบาทโดยแท้จริงของพวกเขา ในวันนี้ อาจได้ดิบได้ดีถีบตัวไปเป็นถึงรัฐมนตรีของชาติของแผ่นดินเลยก็มี...นอกเหนือจากนั้นเราก็แทบจะเหลือแค่คนพิกลพิการและไม่สมบูรณ์แบบด้านความคิดในสังคม ตลอดจนเหลือเพียงผู้คนที่เปรียบได้เพียงดั่ง “เศษผ้าขี้ริ้ว” ที่ไร้ค่าของสังคมเท่านั้น.. “ตำบลช่อมะกอก” อาจไม่ใช่วรรณกรรมที่งดงามและสมบูรณ์แบบในเชิงวรรณศิลป์ เหมือนผลงานชิ้นอื่นๆของ “วัฒน์” ในเวลาต่อมา แต่นี่คือผลงานที่เขียนขึ้นจากความรู้สึกสดๆทางด้านเนื้อหาสาระ ตลอดจนความคิดเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างอุดมคติอันล้ำค่าของสังคมแห่งความยุติธรรม กับอำนาจอันชั่วร้ายจากปากกระบอกปืน อันเป็นสัญลักษณ์ของความอยุติธรรมโดยแท้...แม้หลายฉากหลายตอนจะถูกวิพากษ์ว่าเป็นเหมือนฉากของ “หนังไทยโบราณ” ที่มีฉากบู๊ที่ดูไม่สมเหตุสมผลนัก...แต่ประเด็นตรงส่วนนี้คงถือได้ว่าเป็นเปลือกนอกที่ย่อมเกิดขึ้นได้กับนักเขียนหน้าใหม่ในทุกยุคทุกสมัยทุกๆคน...หากแต่ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า...สิ่งที่เกิดขึ้นที่ตำบลช่อมะกอกเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว...และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมชนบทไทย ณ ช่วงเวลาเดียวกัน.. “ความจริงตรงนั้น” ได้ส่งผลมาถึงวันนี้หรือไม่ ? ..อย่างไร?....หลายคนอาจได้คำตอบตรงนี้ว่าเป็นศูนย์...ชื่อของ “ชัย ช่อมะกอก” หรือ “ใช่ วังตะกู” อาจถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของกาลเวลาเนิ่นนานแล้ว..บทบาทของชาวนาชาวไร่ ที่ยังพอมีอยู่และเป็นอยู่บ้าง นับวันก็มีแต่จะถูกปราบปราม และถูกกลบฝังไปอย่างไม่ไยดี จากกลุ่มรัฐบาลผู้ชอบอ้างตัวว่า...มาจากรากฐานของคนจน... ถึงวันนี้... “ตำบลช่อมะกอก” ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” จะพอมีความหมายอะไรเหลืออยู่บ้างกับความเป็นจริงแห่งสังคมประเทศของเรา...นี่คือคำถามฝังใจสุดท้าย...ที่อยากให้ทุกคนได้ใฝ่หาคำตอบ จากการสัมผัส นวนิยายแห่งการต่อสู้ของชาวไร่ชาวนาด้วยอุดมคติเล่มนี้...กันอีกครั้ง... “เมื่อพูดกันดีๆ กลับมีลูกปืนให้แก่เรา...พี่น้องชาวไร่ ชาวนา กรรมกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชนผู้รักความเป็นธรรม ...เราจะทนให้เขาข่มเหงต่อไปหรือ? ...เราจะยืนดูบุคคลกลุ่มนี้ต่อไปไม่ได้...เราจะต่อสู้จนวาระสุดท้าย ...เราไม่มีทางเลือกกับพวกกระหายเลือด เราไม่มีทางเลือกก็ขอตายเพื่อแผ่นดินนี้... ไว้ให้ลูกหลานต่อไป”