ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนกันทั่ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งนักเดินทางต่างเจ็บหนัก ขณะที่ธุรกิจสายการบินพาหนะในการเดินทางต้องหยุดชะงักเป็นเวลากว่า 2 ปี เนื่องมาจากการปิดน่านฟ้าของแต่ละประเทศ ยิ่งเป็นตัวผลักดันให้ทุกองค์กรต่างต้องปรับตัวทุกรูปแบบ เพื่อประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ ตลาดกลางของสายการบิน ซึ่งในปีที่ผ่านมาสายการบินต่างๆ ต้องประคองตัว ยื้อลมหายใจรอคอยความหวังที่มาจากวัคซีนโควิด ที่จะมาช่วยให้สถานการณ์อันเลวร้ายนี้คลี่คลายลงภายในเร็ววัน ขณะที่ในปี 2565 ทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ออกประกาศว่า กาตาร์ แอร์เวย์ส เป็นสายการบินแรกที่ได้ทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม Aviation Carbon Exchange (ACE) ของ IATA ผ่านระบบ IATA Clearing House (ICH) ถือเป็นตลาดกลางที่ของสายการบินต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางด้านการบินอื่นๆ โดย นายอัคบาร์ อัล เบเกอร์ ประธานบริหารกลุ่มสายการบินกาตาร์ แอร์เวย์ส กล่าวว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถแลกเปลี่ยนหน่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยความสมัครใจที่จะรับมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยสภาพแวดล้อมการซื้อขายที่ปลอดภัยและใช้งานง่าย แพลตฟอร์ม ACE ยังให้ความโปร่งใสในแง่ของราคาและความพร้อมใช้งานของหน่วยลดการปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความซับซ้อนด้านกระบวนการสำหรับผู้ให้บริการทางอากาศในการเข้าถึงตลาดคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ ในเวลานี้ทาง IATA และกาตาร์ แอร์เวย์ส ได้บรรลุความสำเร็จไปอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสนับสนุนตลาดคาร์บอนเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของภาคการบิน โดยโครงการบุกเบิกนี้จะช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการและช่วยให้แน่ใจว่าแผนการลดและชดเชยการปล่อยคาร์บอนสำหรับธุรกิจการบิน (CORSIA) ในการช่วยให้สายการบินต่าง ๆ สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่กำหนดขึ้นโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันยังช่วยสนับสนุนการดำเนินการตามโปรแกรม voluntary offsetting อีกด้วย หลังจากที่กาตาร์ แอร์เวย์ส ได้ทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม ACE ผ่านระบบ IATA Clearing House (ICH) สายการบินจะได้รับผลประโยชน์จาก IATA Settlement Systems และระบบ Clearing House เพื่อการชำระบัญชีที่ราบรื่นและปราศจากความเสี่ยง ซึ่งแพลตฟอร์ม Aviation Carbon Exchange จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้สายการบินต่างๆ สามารถซื้อเครดิตชดเชยด้วยความโปร่งใสอย่างมากที่สุดและเป็นไปตามระบบราชการแบบน้อยที่สุด การซื้อขายครั้งแรกบนแพลตฟอร์ม ACE ผ่านระบบ IATA Clearing House ของกาตาร์ แอร์เวย์ส ได้แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนระบบ ICH ว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมที่จะทำให้การซื้อ carbon offsets ที่มีคุณภาพนั้นง่ายขึ้นสำหรับทุกสายการบิน ร่วมมือกันเป็นภาคีเครือข่าย ด้านสายการบินแอร์เอเชีย ได้ร่วมกับกรมอนามัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการภาคีร่วมใจส่งรัก ส่งนม จากอกแม่สู่ลูก เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยสายการบินพร้อมให้บริการขนส่งนมแม่แช่แข็งข้ามจังหวัดทุกเส้นทางบินภายในประเทศฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ @anamaimilk พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมอนามัย เริ่มขนส่งได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ทั้งนี้ นางธีลฎี พันธุมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในปัจจุบันด้วยความจำเป็นต่างๆ ของคุณเเม่ เช่น การทำงานต่างจังหวัดหรือไกลบ้าน มีภารกิจสำคัญ ทำให้คุณแม่อาจไม่สามารถเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ได้สะดวก โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและการเก็บรักษา ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพและโภชนาการน้ำนมที่สูญเสียไประหว่างการขนส่ง สายการบินแอร์เอเชียในฐานะผู้ให้บริการทางอากาศที่มีเส้นทางบินมากที่สุด รวมทั้งเส้นทางข้ามภาค จึงได้ทำงานร่วมกับกรมอนามัยเพื่อผลักดันโครงการ และยินดีขนส่งน้ำนมเเม่สู่ลูกฟรี ในทุกเส้นทางบินภายในประเทศ ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสายการบินได้ร่วมกับกรมอนามัยเพื่อขนส่งน้ำนมแม่สู่ลูก โดยเริ่มจากเส้นทางบินภาคอีสาน ก่อนขยายมาให้บริการทั่วประเทศในปัจจุบัน ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สายการบินยังเป็นส่วนเล็กๆ ในการเเบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย พร้อมสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้ทานนมเเม่เเม้อยู่ห่างไกลคนละพื้นที่ ด้วยมาตรฐานการขนส่งทางอากาศที่มีคุณภาพและรวดเร็วที่สุด