กลายเป็นข่าวใหญ่! กรณี "นายศรัณยู ประชากริช" หรือ "บีม" ดาราและพิธีกรชื่อดัง โพสต์คลิปโชว์กิน "ใบกระท่อม" แล้วขับรถยนต์และเรือ ด้วยความหวาดเสียว คึกคะนอง จนเป็นกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ ถึงความเหมาะสมในการเคี้ยวกิน มีอาการเหมือนคนมึนเมา โดยเหตุเกิดบนถนนจรัญสนิทวงศ์ และบริเวณใกล้เคียงย่านธนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ สน.บางพลัด และ สน.บางยี่ขัน
แน่นนอนการกระทำของ "บีม-ศรัณยู" ผิดกฎหมาย แต่เป็น"กฎหมายจราจร" เข้าข่ายการขับรถโดยประมาทหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ และไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
ส่วนประเด็นจะเข้าข่ายขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยนั้น ต้องตรวจสอบว่าพาหนะที่ใช้ได้จดทะเบียนก่อนปี 2537 หรือไม่
ส่วนเรื่อง "ใบกระท่อม" ปัจจุบันมีการถอดออกจาก "บัญชียาเสพติด" แล้ว จึงทำให้การโชว์ หรือกินใบกระท่อม ไม่ถือว่าเป็นความผิด ในอดีต "พืชกระท่อม" เป็น 1 ในพืช 4 ชนิด ที่อยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของ"พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522" จนกระทั่งถูกปลดล็อกอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2564
สำหรับ "กระท่อม" เป็นไม้ยืนต้นที่นิยมเพาะปลูกในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลายสายพันธุ์ ในประเทศไทยพบมากในพื้นที่ภาคกลาง และพื้นที่ป่าธรรมชาติของภาคใต้ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
"ใบกระท่อม" ถูกใช้เป็นยาสมุนไพรในท้องถิ่นมายาวนาน แต่เดิมชาวบ้านนิยมเคี้ยวใบสด หรือนำไปตำน้ำพริก เพื่อช่วยให้รู้สึกมีเรี่ยวแรงเมื่อต้องออกไปทำไร่นา เนื่องจากพืชกระท่อมจะออกฤทธิ์คล้ายกับแอมเฟตามีน กระตุ้นประสาทให้ทำงานได้มากขึ้น
เดิมทีกระท่อมนิยมใช้ในหมู่คนใช้แรงงาน มีฤทธิ์กระตุ้นคล้ายใบโคคา (Coca) หรืออาจใช้แทนสารฝิ่นตำรายาไทยใช้ใบ แก้ปวดท้อง แก้บิด แก้ท้องเสีย พบอัลค่าลอยด์หลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าโปรโตซัว เช่น เชื้อบิด แอลคาลอยด์ mitragynine มีฤทธิ์แก้ปวดได้ดีกดความรู้สึกเมื่อยล้าทำให้ทำงานได้นานขึ้น ซึ่งในประเทศไทยเดิมนิยมใช้กระท่อมมีจุดประสงค์ในการใช้เพื่อให้ทำงานได้ทนขึ้น ทนต่อแสงแดด
หลายคนสงสัยว่ากินใบกระท่อม "เมา" จริงหรือไม่...? อาการเมาใบกระท่อมมีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการเมา หรือภาวะเป็นพิษจากสารหลายชนิด เช่น จากสาร Tetrahydrocannabinols (THC) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์หลักในกัญชา หรือเรียกง่ายๆว่าอาการแพ้ คือมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกิดขึ้น ในลักษณะที่เป็นการแปรปรวนของระบบประสาทอัตโนมัติ กล้ามเนื้อการทรงตัว และระบบประสาทสัมผัส มักจะมีอาการตัวสั่น มือสั่น อุณหภูมิร่างกายลดลงเล็กน้อยทำให้รู้สึกตัวเย็น หนาว ความแข็งแรงและสมดุลของร่างกายลดลง จึงทำให้รู้สึกว่าแขนขาอ่อนแรง ยืนเดินไม่ไหว ระดับการประสานงานของกล้ามเนื้อลดลงจึงเดินเซ หรือทำของตกหล่น คลื่นไส้ ปวดหัวเวียนหัว และอาจมีความดันโลหิตลดลง หายใจเร็วขึ้น และหัวใจเต้นเร็วขึ้น
อาการเหล่านี้ถือว่าอันตรายต่อชีวิตของผู้เสพ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคของหัวใจและหลอดเลือดได้ เพราะไปเพิ่มการทำงานของหัวใจมากขึ้น อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บได้ หากผู้เสพไปขับรถหรือใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์เมื่อมีอาการ เพราะการทำงานของระบบประสาทสัมผัส การประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อและระบบประสาทควบคุมบกพร่อง การตอบสนองต่อการกระตุ้นช้าลง และแปลสิ่งเร้าผิดไป ซึ่งถ้าหากผู้เสพมีอาการแพ้รุนแรงจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้