นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ เผยว่า อาหารแปรรูปเป็นที่นิยมของผู้บริโภคหลายกลุ่ม เพราะสะดวก อร่อย หารับประทานง่าย แต่ผู้บริโภคต้องมีความรู้ความเข้าใจ ระมัดระวังในการเลือกซื้อ ดูผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้เพื่อความปลอดภัย รับประทานอย่างเหมาะสม หลากหลาย สลับกับอาหารประเภทอื่นให้ครบ 5 หมู่ให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน วันที่ 1 ก.พ.65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ สุระวัง สาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวรายงาน พบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) เนื่องจากการรับประทาน ไส้กรอกไม่มียี่ห้อ ไม่มี อย. ไม่มีฉลากระบุที่มาหรือผู้ผลิต ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปาก ลิ้น นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นๆ มีสีเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการใช้สารประกอบไนเตรท ไนไตรท์ ในปริมาณที่เกินมาตรฐานที่กำหนด หรือการควบคุมคุณภาพและปริมาณการใช้ในกระบวนการผลิตไม่เข้มงวดมากพอ ในกระบวนการผลิตไส้กรอก จำเป็นต้องเติมสารเจือปนอาหารที่เรียกว่า ไนเตรทหรือไนไตรท์ เพื่อช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ โดยเฉพาะ คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งเชื้อนี้มีอันตรายสูงมาก และเจริญได้ดีในสภาวะการบรรจุแบบสุญญากาศ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สารไนเตรทหรือไนไตรท์ในไส้กรอกก็ยังทำให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลใจว่า จะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ซึ่งออกจะรุนแรงเกินไป แต่ในทางกลับกัน หากไม่ใส่อาจเกิดโทษมากกว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ.2547) ได้กำหนดปริมาณที่อนุญาตให้ใช้ ไนไตรท์และไนเตรทในอาหารได้ไม่เกิน 125 และ 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ กรณีที่ใช้ทั้งไนไตรท์และไนเตรทให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค และผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เนื่องจากความปลอดภัยของผู้บริโภคมีความสำคัญ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดี และล่าสุด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 389 (พ.ศ.2561) ได้อนุญาตให้ใส่สารกลุ่มไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป ในรูปโพแทสเซียมไนไตรท์ (INS: 249) หรือโซเดียมไนไตรท์ (INS: 250) โดยให้พบในผลิตภัณฑ์สุดท้ายในปริมาณสูงสุด ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยทำหน้าที่เป็นสารคงสภาพของสี และสารกันเสีย นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไส้กรอกจะใช้เนื้อสัตว์ เป็นส่วนประกอบหลัก โดยผ่านกระบวนการบด และสับละเอียดทำให้ได้เนื้อเนียนเป็นลักษณะที่เรียกว่า อิมัลชัน และนำมาผสมกับเกลือ และส่วนผสมต่างๆ จนได้รสชาติที่ต้องการ ในกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจะใช้วัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีการตรวจสอบสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ไม่ได้ใช้เศษเนื้ออย่างที่บางคนเข้าใจ แต่บางกรณีอาจจะมีการใช้เนื้อส่วนที่เหลือจากการตัดแต่ง ซึ่งเป็นการนำทุกชิ้นส่วนของเนื้อสัตว์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ สุระวัง แนะนำเพิ่มเติมว่า เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน โดยสังเกตได้จากฉลาก หรือสัญลักษณ์ ที่สามารถยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี การบริโภคอาหารแปรรูปควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม สลับกับการรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัย และได้สารอาหารที่ครบถ้วน