จากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพทางการเงินของทุกคน บางคนถูกลดเงินเดือนทำให้รายได้ลดลง บางคนถูกเลิกจ้างงานทำให้ขาดรายได้ ประกอบกับราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ต้องนำเงินเก็บมาใช้ หรือกู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ต่าง ๆ ดังนั้น จึงควรเตรียมวางแผนทางการเงินในอนาคตและในยามฉุกเฉินโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี ดังนี้ 1.วางแผนทางการเงินด้วยบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีรายรับรายจ่ายถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยสร้างวินัยทางการเงินที่ดี จดบันทึกรับจ่ายโดยแยกรายจ่ายจำเป็นและรายจ่ายไม่จำเป็น จากนั้นลองลดค่าใช้จ่าย ที่ไม่จำเป็นในเดือนถัดไป ต่อมานำผลการบันทึกรับจ่ายทั้งปีมาจัดหมวดหมู่ โดยแยกประเภทดังนี้ 1) รายรับทั้งปี 1.1) รายรับจากการทำงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า กำไรจากการขาย 1.2) รายรับจากทรัพย์สิน รายได้หรือดอกผลที่มาจากทรัพย์สินลงทุน ต่างๆ แม้หยุดทำงาน ยังมีรายได้เข้ามา เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ 2) รายจ่ายทั้งปี 2.1) รายจ่ายแบบคงที่ ต้องจ่ายทุกเดือน ปรับลดค่อนข้างยาก เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ ค่าเช่าบ้าน ค่าประกันสังคม ค่าประกันสุขภาพ 2.2) รายจ่ายแบบแปรผัน ยิ่งใช้ ยิ่งซื้อ ยิ่งต้องจ่าย ปรับลดง่าย เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่ากิน ค่าเที่ยว ค่าเดินทาง ค่าช้อปปิ้ง 2.3) รายจ่ายเพื่อการลงทุน เป็นการจ่ายเงินเพื่ออนาคต ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี เช่น เงินฝากประจำ ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ สลากออมทรัพย์ ลงทุนในหุ้น สามารถนำรายรับรายจ่ายแต่ละประเภทมาวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล โดยใช้อัตราส่วนดังต่อไปนี้ เพื่อให้ทราบสถานะทางการเงินของตนเอง ดังนี้ ⚫ อัตราส่วนความอยู่รอด = (รายได้จากการทำงาน + รายได้จากทรัพย์สิน) ÷ รายจ่ายรวม หากคำนวณแล้วได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่าสามารถอยู่รอดได้ แต่ถ้าได้ค่าน้อยกว่า 1 ควรเพิ่มรายได้จากช่องทางอื่น หรือลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ⚫ อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ = รายจ่ายชำระหนี้ ÷ รายได้รวม แสดงความสามารถในการชำระหนี้ โดยค่าที่ได้ไม่ควรเกิน 0.4 หรือ ไม่ควรมีหนี้ที่ต้องชำระเกิน 40% ของรายได้ ⚫ อัตราส่วนการออมและการลงทุน = รายจ่ายการออมและการลงทุน ÷ รายได้รวม แสดงสัดส่วนการออมและการลงทุนต่อรายได้ ควรมีค่ามากกว่า 0.1 หรือควรออมและลงทุนมากกว่า 10% ของรายได้ ⚫ อัตราส่วนความมั่งคั่ง = รายได้จากทรัพย์สิน ÷ รายจ่าย หากคำนวณแล้วได้ค่ามากกว่า 1 แสดงว่ารายได้จากทรัพย์สินสามารถครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด มีความมั่นคงมั่งคั่ง และมีอิสรภาพทางการเงิน การวางแผนการเงินล่วงหน้าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงควรจัดทำ “รายรับรายจ่ายล่วงหน้า” เพื่อป้องกันความเสี่ยง และมีเงินสำรองเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่ากับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน เพื่อเป็นช่วงเวลา ที่จะสามารถหางานใหม่หรือสร้างรายได้ใหม่ๆ 2.วางแผนปลดหนี้ หาสาเหตุของการเป็นหนี้ และสำรวจภาระหนี้สินที่มีทั้งหมด รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ ในแต่ละก้อน เพื่อให้เห็นภาพรวมของภาระในการชำระหนี้ต่อเดือน สำรวจทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้หรือไม่จำเป็นไปขายนำเงินมาชำระหนี้เพื่อลดหนี้ จัดทำแผนปลดหนี้และปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด หากชำระหนี้ไม่ได้ตามแผนให้รีบเจรจากับเจ้าหนี้ อย่าหยุดจ่ายเอง 3.ควบคุมรายจ่ายอย่างรัดกุม จำแนกค่าใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นและส่วนที่ไม่จำเป็นให้ชัดเจน โดยจัดสรรค่าใช้จ่ายที่จำเป็นไว้เป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อนำมาเป็นเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน 4.เริ่มต้นออมเงิน เงินออม ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในยามฉุกเฉิน โดยวิธีการออมเงินมีหลากหลายวิธี เริ่มต้นการออมเงินจากการออมเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละเดือน นอกเหนือจากการหยอดกระปุกและฝากเงินกับธนาคาร ด้วยเทคนิคการออมต่างๆ อาทิ 1) ลด ละ เลิก การใช้แบงก์ 50 บาท 2) ทานข้าวที่บ้านและทำอาหารเองให้บ่อยขึ้น 3) ใช้น้ำและไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น ปิดเมื่อไม่ได้ใช้ 4) สมัครสมาชิกร้านค้า/ร้านออนไลน์เพื่อได้ส่วน 5) ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์เก็บเงินง่ายได้เงินคืนก้อนใหญ่ 6) เดินห้างเมื่อจำเป็นจริงๆ 7) ติดตามมาตรการของรัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการเราเที่ยวด้วยกันฯ 5.หารายได้เสริม หาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ ขายของออนไลน์ ทำงานอดิเรกเพิ่มรายได้ เช่น ทำอาหาร ทำขนม งานฝีมือฯ การลงทุนในสลากออมทรัพย์ ลงทุนในหุ้น เป็นต้น หากเราเริ่มวางแผนทางการเงินตั้งแต่วันนี้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเตรียมการตั้งรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นการเสริมสร้างรากฐานชีวิตให้แข็งแรง และสร้างหลักประกันที่มั่นคงสำหรับอนาคตอีกด้วย