อธิบดีกรมศิลปากรเผยความคืบหน้าการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในพื้นที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ล่าสุดได้มีการตรวจรับงานก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ งวดที่ 11 และ 12 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 30% คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในปี 2566 เมื่อการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนงานด้านการออกแบบและตกแต่งภายใน รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อรวบรวมองค์ความรู้โบราณราชประเพณีเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมศพ พระศพ และองค์ความรู้ในการก่อสร้างพระเมรุมาศ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา คติความเชื่อ งานสถาปัตยกรรม งานศิลปกรรมด้านต่างๆ ตลอดจนขั้นตอนต่างๆ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้ประชาชนได้เห็นถึงความงดงามของรูปแบบศิลปกรรมไทย ประเพณี และศิลปกรรมในรัชกาลที่ 9 ที่มีเอกลักษณ์ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของงานช่างฝีมือไทยทุกสาขาที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า ในส่วนความคืบหน้าของคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ก่อสร้างอาคารหลังใหม่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญของชาติ โดยออกแบบได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ มีเทคโนโลยีด้านการรักษาความปลอดภัยต่อโบราณวัตถุที่ทันสมัย เป็นต้นแบบคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ได้มาตรฐานสากล ขณะนี้เจ้าหน้าที่กลุ่มทะเบียน คลังพิพิธภัณฑ์และสารสนเทศ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการนำโบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 93,000 รายการ ออกจากบรรจุภัณฑ์เดิม แล้วนำขึ้นจัดแสดงหรือจัดเก็บบนชั้นเหล็ก ตู้ลิ้นชักเหล็กภายในห้องคลังต่างๆ โดยจำแนกการจัดเก็บโบราณวัตถุแต่ละประเภทให้เป็นหมวดหมู่ตามวัสดุเป็นหลัก ได้แก่ คลังหินและปูนปั้น คลังดินเผา 1 และคลังดินเผา 2 คลังโลหะ 1 คลังโลหะ 2 และคลังโลหะ 3 คลังไม้ 1 และคลังไม้ 2 คลังหนังสัตว์ คลังผ้า กระดาษ กระดูก งาและเขาสัตว์ เพื่อเตรียมเปิดให้บริการคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอย่างเป็นทางการภายในปี 2565 โดยจะเป็นลักษณะการให้บริการเยี่ยมชมหรือเข้าศึกษาค้นคว้าโบราณวัตถุ ณ สถานที่ตั้งเท่านั้น ส่วนงานบริการสืบค้นฐานข้อมูลทะเบียนพร้อมภาพถ่ายโบราณวัตถุจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการแบบออนไลน์ในปี 2566