สมศ.เผยความพร้อมประเมินภายนอกปี 65 ยังใช้ระบบออนไลน์ ทั้งประเมินผ่าน SAR และประเมินระยะที่ 2 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ให้ความสำคัญยกระดับผู้ประเมินให้มีบทบาททั้งเป็นที่ปรึกษา สะท้อนมาตรฐานการจัดการศึกษา เพิ่ม 3 ทักษะสำคัญ ยังเฟ้นหาผู้ประเมินเพิ่มเติมอีกกว่า 400 ราย เปิดรับเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีหรือขาดแคลนผู้ประเมินภายนอก ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกประจำปี 2565 สมศ. ยังคงใช้วิธีการประเมินรูปแบบออนไลน์ทั้ง 2 ระยะ ทั้งการประเมินระยะที่ 1 การประเมินผลและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) และการประเมินระยะที่ 2 การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของสถานศึกษาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยขณะนี้ สมศ.มีความพร้อมอย่างมากในการเริ่มประเมินภายนอกไม่ว่าจะเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการประเมินทั้ง 2 ระยะ ตลอดจนการจัดเก็บและวิเคราะห์ไฟล์ดิจิทัล พร้อมทั้งระบบที่สามารถเรียกดูเอกสารต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงยังได้จัดทำสื่อเพื่อให้ความรู้สำหรับสถานศึกษาที่มีความประสงค์เข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งขณะนี้มีสถานศึกษาจำนวนมากให้ความสนใจในการเข้ารับฟัง และดาวน์โหลดเพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการประเมิน ตลอดจนส่วนสำคัญอย่างผู้ประเมินภายนอกที่ขณะนี้ สมศ. ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพเพื่อให้เป็นทั้งผู้ให้ข้อเสนอแนะจากการประเมิน และการส่งเสริมการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปใช้ ดร.นันทา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายดังกล่าว รวมถึงเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการประเมินทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมศ. จึงได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประเมินฯ ทั้งในเรื่องการเข้ารับการอบรมจากหน่วยงาน หรือสถาบันที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับ รวมถึงยังได้มีการทดสอบความรู้ ความเข้าใจ เพื่อทำให้ในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานจริงมีความชำนาญและแก้สถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยทักษะที่ผู้ประเมินจะได้รับการอบรมพัฒนาและมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ได้แก่ - ทักษะการสื่อสาร โดยได้เพิ่มทักษะทางภาษาที่ใช้ในการสื่อสารที่สามารถเข้าใจได้ง่าย สามารถชี้ทิศทาง เป้าหมาย และขั้นตอนการประเมินต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สถานศึกษาเข้าใจในเรื่องที่ผู้ประเมินต้องการจะสื่อสาร รู้สึกว่าผู้ประเมินนั้นเป็น “กัลยาณมิตร” พร้อมที่จะเปิดใจรับคำแนะนำต่าง ๆ ไปใช้ในด้านการจัดการเรียนการสอน - ทักษะการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากการประเมินที่ต้องใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด จึงได้เพิ่มทักษะความรู้และการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ โมบายล์แอปพลิเคชัน รวมถึงโปรแกรมที่ใช้ในการประเมินในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตลอดจนระบบเพื่อใช้ในการสืบค้นข้อมูล ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ในการประเมินให้มีความรวดเร็ว พร้อมทั้งสามารถหยิบยกตัวอย่างสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จ (Success Case) ไปเสนอแนะให้กับสถานศึกษาที่ขอรับการประเมินได้แบบเรียลไทม์ - ทักษะการให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นทักษะที่ต่อเนื่องจากทักษะด้านการสื่อสาร และจำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างเข้มข้น เนื่องจากผู้ประเมินทุกคนต้องสามารถให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษานั้นๆ เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำข้อเสนอแนะมาปรับใช้ได้อย่างตรงจุด ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นการสร้างสัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการประเมินที่มีความเป็น “กัลยาณมิตร” อีกด้วย “นอกจากจะพัฒนาทักษะของผู้ประเมินแล้ว สมศ. ยังได้เปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรมและคัดเลือกเพื่อรับรองเป็นผู้ประเมินภายนอกการศึกษาปฐมวัย และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ แบ่งเป็นระดับการศึกษาปฐมวัย 120 คน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 303 คน โดยจะเปิดรับผู้ที่อาศัยอยู่ในกลุ่มพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่มีหรือขาดแคลนผู้ประเมินภายนอก เนื่องจาก ผู้ประเมินจะมีความเข้าใจในบริบทของสถานศึกษา รู้ปัญหาและทราบแนวทางการแก้ได้ตรงจุด อีกทั้งหากสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย ผู้ประเมินก็สามารถเดินทางลงพื้นที่ได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ ผู้ที่มีคุณสมบัติและสนใจเข้ารับการอบรมและคัดเลือกเป็นผู้ประเมิน สามารถสมัครผ่านทาง https://aqa2.onesqa.or.th/ (สมัครผู้ประเมิน) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.onesqa.or.th (ประกาศ) เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565” ดร.นันทา กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเป้าหมายในการประเมินภายนอกประจำปี 2565 ยังคงวางจำนวนสถานศึกษาให้เข้ารับการประเมิน ทั้งสิ้นที่ 18,050 แห่ง และจะมีความหลากหลายของประเภทสถานศึกษาที่เข้าประเมินจากปีที่ผ่านมามากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นศูนย์พัฒนาเด็ก 6,376 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 10,468 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐานประเภทวัตถุประสงค์พิเศษ 326 แห่ง การศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มโรงเรียนนานาชาติ 50 แห่ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 360 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 440 แห่ง และระดับอุดมศึกษา 30 แห่ง อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะสะท้อนผลการประเมินต่าง ๆ เพื่อให้สถานศึกษาก้าวทันกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง ยกระดับมาตรฐานของผู้สอนที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงการช่วยดึงจุดแข็งของสถานศึกษาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย