สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
'เหรียญ' เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และเริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอาจแบ่งคร่าวๆ ได้แก่ - เหรียญหล่อโบราณ เช่น เหรียญจอบใหญ่ จอบเล็ก หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เหรียญหลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง - เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ และเหรียญที่ใช้แทนเงินตรา - เหรียญพระพุทธและเกจิอาจารย์ที่สร้างโดยโรงงาน
ทีนี่เรามาเริ่มพิจารณาถึงขั้นตอนวิธีการดูเหรียญแท้เริ่มกันที่ 'เหรียญหล่อโบราณ' ก่อนเริ่มแรกให้สังเกตหลักใหญ่ๆ คือการเข้าดินนวลซึ่งจะผสมขี้วัวหมัก โบราณเรียก 'ดินขี้งูเหลือม' เมื่อเททองลงในหุ่นเทียนจะเกาะติดกับเนื้อองค์พระเห็นเป็นจ้ำๆ สีน้ำตาลแก่ และให้สังเกตบริเวณหูเชื่อมที่จะต้องจับโค้งติดกับตัวเหรียญ มักจะปรากฏเนื้อปลิ้นระหว่างปลายตัวปลิง (หูเหรียญ) กับพื้นเหรียญด้านหลัง มักจะมีการใช้ตะไบแต่งตัวเหรียญให้ได้รูป แต่รอยตะไบจะไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนใหญ่จะใส่ทองผสมตอนเทด้วย เนื้อทองจะเห็นเป็นจ้ำๆ ทั่วบริเวณเหรียญครับผม
ต่อมาก็เป็นประเภท 'เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์' โดยทั่วไปแล้วนั้น 'เหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์' จะผลิตโดยรัฐบาลกลาง ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสยามเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตก มีความนิยมสร้างเหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนี้ ยังนำโลหะมาผลิตเป็นเงินเหรียญเรียก 'เหรียญกษาปณ์' ใช้เป็นเงินตราแทนระบบเงินดั้งเดิม เหรียญประเภทนี้ให้สังเกตให้ดีจะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า 'บล็อกนอก' หมายถึง สั่งผลิตจากเมืองนอก ตัวเหรียญจะมีความคมชัดลึก สวยงาม แข็งแกร่ง และมีอยู่ระยะหนึ่งซึ่งสยามสั่งเครื่องผลิตเหรียญเข้ามาผลิตเองแต่คุณภาพของเหรียญที่ออกมาไม่สู้ดี จะไม่คมชัดและไม่สู้จะเรียบร้อยนักเรียก 'บล็อกใน' ราคาเล่นหาก็จะถูกกว่าบล็อกนอก
โดยทั่วไปแล้ววิธีสังเกตความเก๊แท้ของเหรียญที่ระลึกและเหรียญกษาปณ์ จะไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะเหรียญประเภทนี้มีบันทึกการจัดสร้างที่มาที่ไป ตลอดจนจำนวนการสร้างที่ชัดเจน ในภาพรวมแล้วให้สังเกตขั้นต้นก่อนว่า หากเป็นเหรียญกษาปณ์ด้านหน้ากับด้านหลังจะวิ่งตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น เหรียญไอยราพรต ด้านหน้าจะเป็นพระบรมรูปตั้งขึ้น หากพลิกด้านหลังจะเห็นเป็นรูปช้างสามเศียรกลับหัวลง จะไม่ตั้งขึ้นไปในทิศทางเดียวกันทั้งสองด้านเด็ดขาด ลองหยิบเหรียญบาท เหรียญสิบ ของเราขึ้นมาดูสิครับ นั่นแหละเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการดูเหรียญประเภทนี้
นอกจากนี้ยังต้องดู 'เส้นล้ม' ให้เป็น คำว่าเส้นล้มหมายถึงถ้าเป็นเหรียญเก๊เขาจะนำไปถอดพิมพ์แล้วทำบล็อก หากเป็นเหรียญแท้เส้นต่างๆ ที่ตั้งขึ้นจากพื้นเหรียญจะคมชัดไม่เบลอหรือเส้นไม่ล้ม ถ้าเส้นเอียงจะทำให้เหรียญดูเบลอไม่คมชัด เขาเรียกเส้นล้มครับผม ต้องหัดดูให้ชำนาญ แรกๆ ก็จะดูไม่ค่อยเห็น แต่เอียงเหรียญแล้วหัดส่องไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจเองครับ
สำหรับ 'เหรียญพระพุทธและเกจิอาจารย์' ที่สร้างโดยโรงงาน ต้องนับ เหรียญพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) วัดสัต นารถปริวัตร ราชบุรี สร้างพ.ศ.2458 เป็นปู่เหรียญหรือเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรก
ส่วนเหรียญพระพุทธนั้นต้องยกให้เหรียญพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นปีพ.ศ.2440 เป็นที่ระลึกคราวเสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งแรก และช่วงนี้บรรดาเกจิคณาจารย์ก็นิยมสร้างเหรียญรูปเหมือนขึ้นเป็นที่ระลึกกันอย่างแพร่หลาย
ส่วนใหญ่วัสดุที่ใช้จัดสร้างจะเป็นทองแดง จะมีเนื้อเงิน เนื้อทองบ้าง ก็สร้างขึ้นเพื่อถวายเจ้านายหรือแจกกรรมการ ส่วนบางท่านก็ใช้วัสดุที่หาง่ายในพื้นบ้าน เช่น ตะกั่ว ชิน สร้างเป็นเหรียญแจกชาวบ้าน
เหรียญที่สร้างขึ้นโดยโรงงานนั้น จะใช้วิธี 'ปั๊ม' หากเป็นเหรียญยุคแรกๆ ก่อน พ.ศ.2470 จะมีข้อสังเกตพื้นฐานกล่าวคือ เหรียญส่วนใหญ่จะแกะขึ้นด้วยมือ ช่างที่แกะจึงต้องมีความชำนาญส่งผลให้ศิลปะของเหรียญได้รูปที่สวยงามแต่จะไม่ลึกนัก โดยแกะเป็นแม่พิมพ์สองตัวด้านหน้ากับด้านหลัง เมื่อกระแทกจะทำให้แผ่นทองแดงที่รีดบางตึงแน่น ผิวไม่ขรุขระ ทำให้ไม่เกิดขุมสนิมเขียว แดง ที่เรียกว่า 'รอยขี้กลาก' ยกเว้นการนำแม่พิมพ์เดิมมาสร้างเหรียญรุ่นเดิมเพิ่ม อาจจะเกิดรอยขี้กลากนิดหน่อย แต่ถ้าพบรอยขี้กลากต้องระวัง และมักจะทำเป็นแบบหูเชื่อมเพราะวิทยาการยังไม่ทันสมัย ซึ่งก็จะเห็นการเชื่อมหูด้วยตะกั่วบัดกรี ไม่ได้เป็นหูในตัวอย่างรุ่นหลังที่นิยมสร้างในปัจจุบันครับผม




