วันที่ 26 ม.ค. 65 เวลา 07.30 น. ณ บริเวณ โดมเวทีกลาง ลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด นางดนิตา สมจิตต์ ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร้อยเอ็ด นำผู้บริหาร ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กร เอกชน ผู้ประกอบการค้าข้าว เกษตรกรชาวนา ประชาชน จัดพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว ในวันแรกของงาน เทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 21 จังหวัดร้อยเอ็ด 'ข้าวของแผ่นดิน ข้าวถิ่นทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิโลก'ตั้งแต่วันที่ 26 - 29 มกราคม 2565 ณ ลานสเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด กิจกรรมพิธีบวงสรวงแม่โพสพ - การแสดงพื้นบ้าน ชุดบุญคูนลานสืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่น สำหรับ พิธีบายศรีสู่ขวัญ บางครั้งก็เรียกว่า พิธีบายศรี, พิธีสู่ขวัญ, พิธีทำขวัญ, พิธีรับขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทย และคนลาว ด้วยความเชื่อที่ว่า ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “ขวัญ” ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติและไม่ประมาท ขณะที่ การสู่ขวัญข้าวเป็นการบูชาแม่โพสพผู้บันดาลให้ข้าวกล้าแก่คนทั้งหลาย การทำขวัญข้าวเริ่มกันว่าจะให้ผลิตผลดี กินไม่เปลืองมั่งมูลพูนสุข อีกอย่างหนึ่งการทำขวัญข้าวเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีของประชาชนที่มีต่อเทพยาดาฟ้าดิน การทำขวัญข้าวหรือประเพณีฮ้องขวัญข้าวจึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษาต่อไป ทั้งนี้ ประเพณีบายศรีสู่ขวัญใช้เครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า บายศรี ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทง เป็นชั้น ๆ มีขนาดใหญ่เล็กสอบขึ้นไปตามลำดับ เป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญ (ไข่ต้ม) เสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายประเภท เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่ (ภาษาเขมร บาย = ข้าว + ศรี = สิริ หมายความว่า ข้าวอันเป็นสิริหรือข้าวขวัญ) มีการพันสายสิญจน์ไว้โดยรอบเพื่อใช้ผูกข้อมือผู้รับขวัญ ผู้นำทำพิธีเรียกว่า หมอขวัญ ซึ่งการบายศรีนั้นมีข้อสันนิษฐานว่าได้ประดิษฐ์ขึ้นมาจากคติความเชื่อของพราหมณ์ พิจารณาจากการนำใบตองมาประดิษฐ์บายศรี เนื่องด้วยใบตองนั้นเป็นของสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีมลทินของอาหารเก่าให้แปดเปื้อน และอีกประการหนึ่งก็คือ รูปร่างลักษณะของบายศรีที่ได้จำลองเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร ตลอดจนเครื่องสังเวยก็มีความเชื่อมาจากคติพราหมณ์เช่น ไข่ แตงกวา มะพร้าว รวมถึงพิธีการ เช่น การเวียนเทียน การเจิม และพิธีการต่าง ๆ เหล่านี้พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีทั้งสิ้น โดยงาน เทศกาลข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 21 จังหวัดร้อยเอ็ด "ข้าวของแผ่นดิน ข้าวถิ่นทุ่งกุลา ข้าวหอมมะลิโลก" เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 - 29 มกราคม 2565 ณ ลานสเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด