หลังจากอากาศบ้านเราเริ่มเข้าฤดูหนาว ก็จะพบว่าลูกน้อย มีอาการติดเชื้อที่ทำให้ท้องเสีย ซึ่งมีการระบาดมากในเด็ก ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มาจากเชื้อแบคทีเรีย แต่มีต้นเหตุจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โนโรไวรัส (Norovirus) ส่งผลให้เด็กเล็กมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างรุนแรง ยิ่งถ้าภูมิต้านทานต่ำอาการอาจหนัก และร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันไวรัสชนิดนี้ ย่อมช่วยให้สามารถดูแลป้องกันลูกน้อย และทำการรักษาได้ทันท่วงที
บทความนี้ พญ.กฤตพร พรไพศาลสกุล กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช จะมาให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโนโรไวรัส พร้อมทั้งให้คำแนะนำตั้งแต่การสังเกตอาการเบื้องต้น ไปจนถึงการป้องกันเชื้อไวรัสชนิดนี้ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถดูแลและรับมือ เมื่อเกิดความผิดปกติกับบุตรหลานได้อย่างทันท่วงที
O โนโรไวรัส คืออะไร
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ไวรัสชนิดนี้ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แม้ร่างกายได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญเชื้อไวรัสทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี ดังนั้นเมื่อเกิดการปนเปื้อนของโนโรไวรัสในอาหารและน้ำดื่ม จะทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน และสามารถติดต่อกันได้ง่าย บางรายอาจจะมีไข้อยู่ 1-3 วัน อาการจะคล้ายกับอาหารเป็นพิษมาก และใช้เวลาเพียงไม่นานในการแพร่กระจายเชื้อ บางครั้งป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว หรือระบาดในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ไวรัสนี้พบการระบาดได้มากในฤดูหนาว ติดต่อได้ง่ายในสภาพอากาศเย็น และทำให้เกิดโรคได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการที่พบบ่อย หากได้รับเชื้อโนโรไวรัสภายใน 24–48 ชั่วโมง ได้แก่
• ปวดท้อง และถ่ายเหลวเป็นน้ำ
• คลื่นไส้ อาเจียน
• ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ
• ปวดเมื่อยตามร่างกาย
• อ่อนเพลีย
O การตรวจและการรักษา
การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัส ทำได้โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ หากพบว่าติดเชื้อโนโรไวรัส แพทย์จะทำการดูแลรักษาตามอาการเป็นสำคัญ หากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดี อาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2-3 วัน
แต่หากเด็กเกิดการขาดน้ำอาจทดแทนด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด รับประทานอาหารอ่อนๆ หรือให้ยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้อง แต่ถ้าเด็กภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลา ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตได้
O การติดต่อของโรค
เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยพฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
• รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโนโรไวรัส พบบ่อยในน้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม เป็นต้น
• เด็กจับหรือสัมผัสกับสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส แล้วเอานิ้วเข้าปาก
• สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง
O วิธีป้องกันการติดเชื้อ
การดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาดคือ หัวใจสำคัญของการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่
• ก่อนทานหรือหยิบจับอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
• การล้างมือให้สะอาดต้องล้างด้วยน้ำสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่านไม่ต่ำกว่า 15 วินาที
• ดื่มน้ำที่สะอาด เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และสดใหม่
• หลีกเลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น
• ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
เพราะเชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่าย และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ ทางที่ดีจึงควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ที่สำคัญการล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ห่างไกลจากเชื้อโนโรไวรัส
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 หรือ www.navavej.com

