นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุการสำลักน้ำ ไม่ว่าน้ำนั้นจะมาจากแหล่งใดก็ตาม หากสำลักลงปอด ก็สามารถทำให้ปอดติดเชื้อได้ แม้แต่สำลักน้ำดื่มที่สะอาดก็มีโอกาสทำให้ปอดอักเสบและเกิดติดเชื้อในปอดได้เช่นกัน เพราะน้ำลายมนุษย์มีเชื้อโรคอยู่แล้ว เช่น เชื้อแบคทีเรีย แอนแอโร เพียงแต่โอกาสติดเชื้อจะเป็นไปตามปริมาณเชื้อโรค รวมถึงความสกปรกของแหล่งน้ำ ยิ่งสกปรก เชื้อโรคแปลกๆ ก็จะมาก โอกาสติดเชื้อก็ยิ่งมากขึ้น กรณีบ่อรับน้ำฝนหรือบ่อรองรับเก็บกักน้ำ อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในปอดสูงได้ หากสำลักน้ำเข้าปอด ด้วยสภาพบ่อเปิดรับน้ำฝน น้ำจากภูเขา หรืออาจรับน้ำทิ้ง จึงรับเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย และตลอดทางที่น้ำไหลผ่านจะกวาด ชะล้าง ละลายสารเคมี สิ่งสกปรกอื่นๆ สะสมในบ่อ น้ำในบ่อเปิดจึงสกปรกและมีสารปนเปื้อนหลายอย่าง ขณะด้านเชื้อโรคจะเสี่ยงสูง และเป็นหนึ่งในสาเหตุโรคระบบทางเดินอาหาร รองอธิบดีกรมอนามัยเผย โดยทั่วไปน้ำผิวดินมักปนเปื้อนเชื้อโรค โลหะหนัก สารเคมี แต่สำหรับน้ำในแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติอื่นๆ ที่กลายเป็นน้ำเสียนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจาก - บ้านเรือน-ชุมชน ย่านการค้า สถานประกอบการ เช่น การซักล้าง ประกอบอาหาร สิ่งปฏิกูลที่ปล่อยลงแม่น้ำลำคลองโดยตรง ทำให้น้ำเน่าเสียได้ -เกษตรกรรม ใช้สารเคมีซึ่งบางชนิดสลายตัวยาก และกระจายตามพื้นดิน น้ำฝนจะชะล้างลงแม่น้ำลำคลอง อุตสาหกรรม กระบวนการผลิต น้ำทิ้งจากโรงงานที่ปล่อยลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่บำบัดตามมาตรฐาน ทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น มีสารพิษ-เชื้อโรคปะปน เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน...