วันนี้ เชื่อว่า คนไทยได้ยินและรู้จักกับระบบ เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) อย่างกว้างขวาง รู้หรือไม่ว่าเป็นระบบที่ใช้ในภาคเกษตรปของไทยมานานกว่า 40 ปี เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านต่างๆ อาทิ อาหาร พลังงาน ให้กับประเทศ ที่สำคัญ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยังนำโมเดลคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัทไทยเป็นโมเดลให้เกษตรกรในประเทศอื่นๆ ประยุกต์ใช้อีกด้วย ระบบนี้เป็นอย่างไร? คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เป็นระบบการผลิตผลผลิต หรือ บริการทางการเกษตรที่ทำสัญญากันระหว่าง "ผู้ประกอบธุรกิจ" กับ “เกษตรกร” หรือ “กลุ่มเกษตรกร" โดยใช้กับการเพาะปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ช่วยเกษตรกรรายย่อยลดความเสี่ยงเรื่องราคา ความผันผวนด้านการตลาด ซึ่งคู่สัญญามีการตกลงในการบริหารจัดการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจจะถ่ายทอดวิธีการผลิต และจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร ขณะที่เกษตรกรผลิตตามจำนวน คุณภาพ ระยะเวลาที่กำหนดหรือมาตรฐานของผู้ประกอบการ และส่งมอบผลผลิตในราคาที่ตกลงและประกันไว้ล่วงหน้า ระบบนี้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และช่วยให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจมีหลักประกันเรื่องมีวัตถุดิบที่ได้คุณภาพได้ใช้ผลิตสินค้าได้ะ อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เป็นระบบที่ช่วยปิดความเสี่ยงของเกษตรกรไม่ถูกกดราคา ผลิตสินค้าตรงตามความต้องการของตลาด ปัจจุบัน ประเทศไทยมี พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 ที่ช่วยกำกับดูแลการทำสัญญาและการปฏิบัติตามสัญญา เพื่อช่วยสร้างความเป็นธรรมระหว่างคู่สัญญา เน้นปกป้องเกษตรกรรายย่อยได้มีที่พึ่ง มีอำนาจต่อรองในการเจรจากับบริษัทคู่สัญญา เพื่อช่วยขจัดปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และดูแลให้ระบบสามารถส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยมีอาชีพ รายได้มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างแท้จริง ในประเทศไทยมีภาคเอกชนหลายแห่งทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ มันฝรั่ง รวมถึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในภาคเอกชนรายแรกๆ ที่นำระบบนี้มาปรับใช้กับโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ตั้งแต่ 2518 ปัจจุบัน บริษัทฯมีเครือข่ายเกษตรกรในโครงการฯ กว่า 5,900 ราย มีผู้เชี่ยวชาญ เป็น “พี่เลี้ยง” ช่วยให้คำแนะนำและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรในโครงการอย่างใกล้ชิด เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าตลอดจนสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกรให้สามารถริเริ่มและดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ทุกวันนี้ เกษตรกรรายย่อยในโครงการฯ ยังปรับตัวให้มีความทันสมัยสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคทั่วโลกที่ใส่ใจประเด็น “ความยั่งยืน” มากขึ้น ทั้งการตรวจสอบย้อนกลับได้ การนำระบบอัตโนมัติมาใช้จัดการฟาร์ม การดูแลแรงงานตามหลัก GLP (Good Labour Practices) การทำบ่อไบโอแก้ส (Biogas) เกษตรกรสามารถนำของเสียมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม และช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ล่าสุด ระบบไบโอซีเคียวริตี้ (biosecurity) เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั้งในคนและสัตว์ ซึ่ง เกษตรกรในโครงการฯ​ ทุกคนจะได้รับความรู้และเข้าใจเรื่องนี้มาโดยตลอดจากผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง การเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิด การควบคุมการเข้าออกฟาร์ม มีระบบฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ส่งผลให้เกษตรกรในโครงการฯ​ สามารถเลี้ยงสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น PRRS หรือ ASF รวมถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เกษตรกรในโครงการฯ ยังสามารถปรับตัวยกการ์ดสูงป้องกันคนงานและฟาร์ม ช่วยให้การผลิตทำได้ต่อเนื่อง นับเป็นกองหลังที่สำคัญช่วยผลิตอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่องให้คนไทยไม่ต้องเจอกับวิกฤตขาดแคลนอาหารมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และเป็นอีกปัจจัยให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงสัตว์ปลอดภัยจากโรคระบาดได้ ความเป็นธรรม ในประเด็นเรื่องความเป็นธรรมของระบบ ตั้งแต่ปี 2558 ซีพีเอฟได้ปรับปรุงสัญญาคอนแทรคฟาร์มอย่างรอบด้านให้มีความทันสมัยตามแนวทางสากลของ UNIDROT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีโดยมีเกษตรกรเป็นพันธมิตรธุรกิจที่สำคัญ และบริษัทพร้อมผลักดันให้เกษตรกรเติบโตไปด้วยกัน สัญญาฉบับปรับปรุงใหม่ ยังได้รับการตรวจประเมินจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่ามีความเป็นธรรม และได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO-Food and Agriculture Organization of the United Nations) นำไปใช้เป็นต้นแบบในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรในหลายประเทศทั่วโลก ตัวอย่าง ความสำเร็จของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อย ได้แก่ “อนุจิตร รู้จบ” จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสานต่อ “มะลิฟาร์ม” ซึ่งเป็นฟาร์มสุกรของครอบครัวที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2541 ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ปัจจุบัน มีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงลูกหมู 7 หลัง จำนวน 4,000-5,000 ตัว “อนุจิตร” ยังได้ประยุกต์ใช้ความรู้เข้ามาจัดการระบบฟาร์มให้ทันสมัยให้หมูได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สอดคล้องกับหลักสากล มีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาใช้ จัดจ้างแรงงานให้อยู่ในระบบประกันสังคม จัดทำบ่อบำบัดน้ำเสีย และนำไบโอแก๊สที่ได้จากบ่อบำบัดไปปั่นกระแสไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม และกำลังศึกษาติดตั้งโซล่าร์เซลส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ด้าน “จันทิมา ทองมา” เจ้าของ “จันทิมาฟาร์ม” ที่อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เลี้ยงสุกรขุนในโรงเรือนระบบปิดมาเกือบ 20 ปี เริ่มต้นจากการเลี้ยงหมู 1,900 ตัว ในปี 2543 และขยายฟาร์มอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีหมู 6,800 ตัว จากการเลี้ยงหมูแบบชาวบ้าน ไม่มีหลักวิชาการ ทำให้ต้องรับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย ทั้งความเสี่ยงเรื่องโรคระบาด การถูกกดราคา หาตลาดขายไม่ได้ หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เรียนรู้การจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบ ผลผลิตมีคุณภาพดี และมีหลักประกันไม่ต้องเสี่ยงเรื่องราคา และเรื่องตลาด ทำให้มีรายได้แน่นอน และเป็นอาชีพที่มั่นคง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกำลังส่งต่ออาชีพให้กับลูกหลานเข้ามาสานต่อสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป