ด้วยตั้งพระทัยที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น ที่ไม่เพียงงดงามและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หากยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2022 เล่มแรกขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหาร (Editor in Chief) ด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ที่นำเสนอข้อมูลตั้งแต่ประเภทเนื้อผ้า การเลือกสี การออกแบบลวดลาย รวมไปถึงเทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเอาข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับงานผ้าไทย ได้อย่างมีทิศทาง โดยนำไปมอบให้แก่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน ช่างทอผ้า และผู้ที่อยากเป็นนักออกแบบในทุกสาขาทั่วทุกภูมิภาค ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบสัมมาอาชีพ และร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่านี้ต่อไป โอกาสนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย อีกทั้งทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยให้มีความทันสมัย สร้างรายได้ต่อยอดให้แก่ชุมชน กลุ่มทอผ้า และผู้ประกอบการด้านผ้าไทย อีกทั้งเสริมสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยด้วยความสนพระทัยยิ่ง โดยภายในนิทรรศการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกนำเสนอแฟชั่นเสื้อผ้าที่ออกแบบ โดย 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์แถวหน้าระดับประเทศ ที่นำผ้าทอมือจากชุมชนต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ มาตัดเย็บเป็นชุดสวยภายใต้กลุ่มโทนสีในทิศทางต่างๆ ได้แก่ SIRIVANNAVARI BANGKOK, ARCHIVE026, ASAVA, EK THONGPRASERT, KLOSET, RENIM PROJECT, ISSUE, T AND T, THEATRE, VICKTEERUT, VINNPATARARIN และ WISHARAWISH เริ่มจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK กับกลุ่มโทนสีคราม หัวใจสำคัญของเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ นำเสนอแฟชั่นในมุมมอง INDIGO : THE HEART OF COLOUR SHADES (คราม: โทนสีแห่งใจกลาง), THEATRE และ KLOSET กับกลุ่มโทนสีม่วงแดงไล่ไปถึงชมพู RIPE AND MATURITY (สุกงอม พร้อมพรั่ง), ASAVA และ ARCHIVE026 กับกลุ่มโทนสีน้ำเงินปนฟ้า PROFOUNDNESS MILD (สุขุมนุ่มลึก), ISSUE และ RENIM PROJECT กับกลุ่มโทนสีน้ำตาลอิฐ HEAVEN ON EARTH (ความมหัศจรรย์จากผืนดิน), THEATRE และ EK THONGPRASERT กับกลุ่มโทนสีเหลือง NURTURER OF WISDOM (ผู้โอบอุ้มภูมิปัญญา), VICKTEERUT และ WISHARAWISH กับกลุ่มโทนสีเขียว A HUMBLE JOURNEY (การเดินทางแห่งประสบการณ์), VINNPATARARIN และ T AND T กับกลุ่มโทนสีขาวมุก-เทา AN ALTERNATIVE PERSUATION ( อิสระในการค้นพบตัวเอง) ส่วนที่ 2 จัดแสดงแฟชั่นรองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับคอลเลกชั่นใหม่ทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศที่ออกแบบอย่างมีสไตล์ โดยอิงเฉดสีที่สอดคล้องกับเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ที่ต้องการมิกซ์แอนด์แมทช์แฟชั่น และส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าทอมือและย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนต่างๆ จำนวน 30 ชิ้น ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวินเทอร์คอลเลกชั่นตามเทรนด์บุ๊กเล่มล่าสุด จำแนกตามวัสดุ เส้นใย และความหนาของเนื้อผ้าผ่านเทคนิคต่างๆ ได้แก่ ยกดอก ขิด จก ปัก มัดหมี่ เกาะหรือล้วง และ แพตช์เวิร์ก หรือการนำชิ้นผ้าหลากสีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน จากนั้น ทรงร่วมการเสวนาวิชาการ Symposium หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล”เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กของปีนี้ ที่นำเสนอกลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน โดยมีใจความสำคัญในพระราชดำรัสโดยสรุปว่า “สำหรับเล่มที่แล้วแนะนำเรื่องลวดลายผ้า มาเล่มนี้นำเสนอเกี่ยวกับสี โดยเฉพาะ “คราม” ซึ่งเป็นสีย้อมเย็นที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย แต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ สำหรับบ้านเราครามถือเป็นราชาในการย้อม และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้ นำไปผสมผสานวัสดุต่างๆ จะได้เฉดสีที่หลากหลาย ซึ่งเล่มก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จมากในแง่ของผลตอบรับ และอุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความกระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่เรามีหนังสือด้านแฟชั่นอย่างจริงจังเสียที ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เล่มนี้สอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป” กว่าจะสำเร็จเป็น THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาความรู้ เปรียบเสมือน “คัมภีร์” เพื่อการพัฒนาผ้าไทยนั้น ผ่านกระบวนการค้นคว้าข้อมูลเป็นแรมปี โดยมีคณะที่ปรึกษาในการจัดทำ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และ ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ได้ผลงานคุณภาพและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง กุลวิทย์ เลาสุขศรี กล่าวถึงจุดเด่นของเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ว่า เป็นเรื่องราวของวินเทอร์หรือฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ที่มีการเปลี่ยนผ่าน ลักษณะของเนื้อผ้าจึงแตกต่างจากทิศทางของช่วงสปริง/ซัมเมอร์ มีความน่าสนใจของเส้นใยต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ครอบคลุมความต้องการของตลาด และเป็นการดึงศักยภาพของผู้ผลิตผ้ามากยิ่งขึ้น ที่สำคัญได้นำแนวคิดเกี่ยวกับสีในแบบ “Circular Colours” (เซอร์คูล่า คัลเลอร์ส) หรือ “วงจรสี” มาใช้ในการสื่อสารโดยพระเอกของงานคือ “คราม” วัสดุย้อมที่ถือเป็นจุดกำเนิดของสีต่างๆ ก่อนจะผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ เป็นสีที่หลากหลาย ซึ่งจริงๆ แล้วครามมีความหลากหลายมากในแต่ละภูมิภาค กระบวนการเลี้ยงครามที่ไม่เหมือนกันจะทำให้ได้สีครามที่ต่างกันสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือองค์ประกอบโดยรวมแล้วพัฒนาออกมา เป็นสีที่ต้องการ นอกจากนี้ยังนำเสนอการย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มโทนสีม่วงแดงไล่ไปถึงชมพู กลุ่มโทนสีน้ำเงินปนฟ้า กลุ่มโทนสีน้ำตาลอิฐ กลุ่มโทนสีเหลือง กลุ่มโทนสีเขียว และ กลุ่มโทนสีขาวมุก-เทา ด้าน วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กล่าวเสริมว่า หัวใจหลักของเทรนด์บุ๊กเล่มนี้เน้นการใช้สีที่เกิดจากการย้อมด้วยวัสดุธรรมชาติซึ่งกำลังเป็นเทรนด์โลก และเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอผ้าในฤดูกาลวินเทอร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีรับสั่งให้คำนึงถึงลักษณะผ้าหรือเส้นใยที่คนไทยใช้ในช่วงฤดูหนาว รวมถึงทรงให้คำนึงถึงว่าผ้าต่างๆ นอกจากเป็นเครื่องนุ่งห่มได้แล้วยังสามารถเป็นผ้าตกแต่งบ้านได้ด้วย เราจึงพยายามใช้ของที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวและดึงศักยภาพของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เอาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่นำมาปรับใช้ ของเดิมที่เคยทำอยู่แนวอนุรักษ์ก็ยังต้องทำต่อไป แต่ของใหม่ก็ต้องมีรากฐานเดิมเป็นที่ตั้ง ปรับเพื่อให้เกิดของใหม่ขึ้นมา สอดคล้องกับทิศทางของสิ่งทอโลก กุลวิทย์ เลาสุขศรี - ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ขณะที่ ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวถึงเสียงสะท้อนหลังจากผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสได้นำเทรนด์บุ๊กเล่มที่ผ่านมาไปประยุกต์ใช้ว่า ถือเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ตลาดโดยรวม สอดคล้องความต้องการของตลาด จากการที่ไปติดตามผล ผู้ประกอบการแต่ละรายได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากหนังสือให้เข้ากับแนวทางการผลิตผ้าของตัวเองตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญ ซึ่งเทรนด์บุ๊กพยายามสร้างเนื้อหาที่ครอบคลุมทุกความต้องการของผู้ประกอบการ “เทรนด์เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า แล้วไม่ได้หมายความว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะหมดอายุไปตามซีซั่นที่กำหนดไว้ บางอย่างผลอาจเห็นตามหลังมา ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่มีทิศทางในการพัฒนาผ้าที่ชัดเจนเลย พอมีโครงการนี้ก็เหมือนเป็นแรงสนับสนุนหรือเป็นแกนหลักว่า นับจากนี้เราจะพัฒนาผ้าไทยไปในทิศทางไหน ก็จะช่วยให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้น อยากให้ใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เนื่องจากพระองค์หญิงฯ ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกรายละเอียดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทำงานด้านผ้าหรือทำงานสายออกแบบที่จะเอาไปประยุกต์กับความถนัดของตัวเอง และเกิดประโยชน์ต่อวงการผ้าไทยโดยรวม” ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวสรุป ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง http://www.culture.go.th หรือที่ linkhttp://book.culture.go.th/ttt2022/mobile/index.html#p=1 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 02-247-0013 ต่อ 4305 และ 4319 - 4321 ในวันและเวลาราชการ และสามารถเข้าชมนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ได้ระหว่างวันที่ 21 – 23 มกราคม 2565 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม