บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) “ตรรกะวิบัติ” เป็นคำที่กล่าวถึงมากมาตั้งแต่วิกฤติการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและฝ่ายแนวร่วมเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ความหมายที่แท้จริงอาจยังสับสนไม่แน่ชัด ตั้งต้นจากคำว่า “ตรรกะ” ที่หมายถึงความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งในบริบทไทยยังมีการแตกคำย่อยได้อีก เช่น ตรรกะย้อนแย้ง ตรรกะวิบัติ เป็นต้น เพราะ สังคมมีความเห็นต่างที่ต่างฝ่ายต่างต้องพิงหลัง อ้างความชอบในการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตนอย่างเข้มข้น ต่างฝ่ายมีความเห็นยืนยันฝ่ายตน และไม่ยอมรับความเห็นต่างมากขึ้น โดยยกเหตุผลนานาว่า อีกฝ่ายมีการกระทำ คิดไม่ถูกต้องทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ถูกกฎหมาย ในขณะที่อีกฝ่ายชี้แจงความชอบในการกระทำของตน ฝ่ายหนึ่งอ้างอิงหลักกฎหมายไม่ว่าบททั่วไปหรือบทบัญญัติเฉพาะ และใช้บังคับกฎหมายอย่างเข้มงวด ในขณะอีกฝ่ายอ้างหลักนิติธรรม หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน ตามหลัก “ความชอบด้วยกฎหมาย” เห็นชัดเจนว่ายืนกันอยู่คนละมุมฝั่ง ไม่มีการประนีประนอมกัน (Compromise) พบเห็นได้ในเวทีปราศรัยดีเบตตามสื่อสาธารณะทั่วไป ก็เพราะต่างฝ่ายมีกรอบความคิด หรือมโนทัศน์ โลกทัศน์ ที่แตกต่างกัน และยากที่จะโน้มนำให้เปลี่ยนกรอบแนวคิดได้ง่าย ความหมายตรรกะวิบัติ (fallacy logical or fallacy of reasoning) วิบัติ คือ ใช้ไม่ได้ ทำให้เสียหาย ในที่นี้หมายถึง การพิสูจน์โดยการอ้างเหตุผลที่มีน้ำหนักอ่อนเพื่อสนับสนุนรองรับในข้อสรุป เป็น “ชุดความคิดที่อธิบายข้อเท็จจริงที่ผิดเพี้ยนที่ทำให้เกิดความฉิบหาย” โดยขาดตรรกะในวิธีคิด จนเริ่มผิดเพี้ยนบิดเบือนไป และอาศัยการใส่ร้าย ใส่ความด้วย ที่ทำให้คนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดได้ เป็น “การให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดิน” หรือเป็นเหตุผลตื้นที่ไม่ต้องบอกใครก็รู้กัน คนเขารู้กันหมดแล้ว เท้าความย้อนไป 30 ปีก่อน มีผู้ใช้คำว่า “โลกาวิบัติ” แทนคำว่า “โลกานุวัตร” (Globalization) โดยนิยามว่าความทันสมัยของโลกยุคใหม่จะทำให้โลกปั่นป่วน ในขณะที่นักวิชาการปัจจุบัน (2565) เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ติดกับดักใด เพียงแต่ประเทศเข้าสู่ยุคดิสโทเปีย (dystopia) มาได้สองปีแล้ว ในทรรศนะมุมมองที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันด้วยกรอบคิดที่ “ต่างกัน” ว่าอีกฝ่ายใช้ตรรกะวิบัติเข้าข้างตนเองเข้าข้างฝ่ายตน ในทางจิตวิทยาคือเป็นการประดิษฐ์ชุดความจริงชุดหนึ่ง ที่ต้องการปกป้องตนเองและพวกพ้อง เช่น คนโกง ส่งเสริมให้สังคมเต็มไปด้วยวัฒนธรรมแห่งการคอร์รัปชัน ด้วยนิสัยคนไทย ที่เป็นผู้ใช้เหตุผลต่ำ ปัจจุบันคนมีตรรกะวิบัติที่มากขึ้น แต่คนโลกสวยแย้งว่ามีไม่มาก เนื่องจากการ “ทำใจเป็นกลาง” ด้วยการหาตรรกะที่เป็นจริงค่อนข้างยาก เพราะต้อง (1) กระโดดออกมาจาก “พันธนาการของความเคยชิน” (2) หลบเลี่ยงจาก “กับดักทางความคิด“ (3) หลีกหนีจาก “สิ่งที่ทำให้หลงทางจากความรู้จริง“ (4) ขจัด “ทิฐิแห่งกมลสันดาน“ ดังปรัชญาพุทธะที่ว่า “ดีปนชั่ว ชั่วคนดี มีดีในเสีย มีเสียในดี ทุกอย่างกลับเปลี่ยนกันได้” ดังเช่นกำเนิด 4 ประการแห่งวิบัติ เหตุแห่งวิกฤตทางสังคม คือ (1) ศีลวิบัติ (2) อาจารวิบัติ (3) ทิฏฐิวิบัติ (4) อาชีววิบัติ เหมือนพลังจักรวาลสองด้าน “หยินกับหยาง” (Yin-Yang) สมดุลระหว่างสีดำ “ฝ่ายยอม” กับสีขาว “ฝ่ายกระทำ” ขอยกข้อความของนักเขียน (2559) ที่อธิบายนิยามความหมายไว้ว่า “สังคมไทยปัจจุบันเข้าสู่โหมดของความขัดแย้งด้วยตรรกะ “พระเจ้าคนละองค์” หรือ “รักคนที่อีกฝ่ายเกลียด และเกลียดคนที่อีกฝ่ายรัก” โดยใช้ตรรกะด้านเดียวคือ ด้านที่ตัวเองเชื่อ เป็นเครื่องโน้มนำจิตใจของตนเอง และเหล่าสาวกให้คิด และเชื่อตามกันไป โดยไม่มีใครย้อนแย้งในความเชื่อหลายเรื่องที่ไม่ใช่ความจริง” ตรรกะว่าด้วยความย้อนแย้ง ปกติคนเรามักจะมีพฤติกรรมชีวิตที่เป็นการขัดแย้งระหว่างคำพูดกับการกระทำ ส่วนความคิดที่นำเสนอจะทราบก็ต่อเมื่อมีการพูดออกมา ซึ่งมีได้ในหลายๆ กรณี เช่น พูดสองสามครั้ง แต่คำพูดขัดแย้ง หรือย้อนแย้งกันเอง หากเป็นนักวิชาการหรือบุคคลสำคัญ ถือว่าเป็นเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยที่ผิดปกติมากๆ เพราะหากเป็นต่างประเทศจะถูกนักวิจารณ์วิพากษ์ทันที แต่สังคมไทย คนหลายคนไม่มีความรู้ และส่วนใหญ่อะลุ้มอล่วยไม่อยากไปยุ่งด้วย แต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่หรือคนรุ่นใหม่หัวใหม่หัวก้าวหน้าเริ่มกล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนที่มีพฤติกรรมหรือมีแนวความคิดที่ “ย้อนแย้ง” แบบนี้มากขึ้น คือคนที่พูดอีกอย่างทำอีกอย่าง หรือ เคยคิดเคยพูดไว้อีกอย่าง แต่ภายหลังกลับพูดอีกอย่างที่ขัดกัน ความหมาย คำว่า paradox, irony, contradiction “ลักลั่นย้อนแย้ง” ในที่นี้ย้อนแย้ง คือ ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง ตอแหล ขี้ตู่ โกหก ปลอมๆ คำว่า ย้อนแย้ง ไม่มีในราชบัณฑิต คำนี้ใช้ในแวดวงวิชาการเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ผู้รู้บอกว่าใช้มานานร่วม 30-40 ปีแล้วจากสำนวนของนักแปลการ์ตูนจีน ที่ใช้คำแปลว่า “ลักลั่นย้อนแย้ง” จากรากคำอังกฤษว่า “Paradox” “ย้อนแย้ง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวคนคนเดียว ที่มีความคิดย้อนไปแย้งมาในตัวเอง เป็นสภาวะสับสนทางอารมณ์ที่ออกจะกวนๆ เทียบกับคำว่า paradox ในภาษาอังกฤษ ในภาษาไทยยังหาคำที่เหมาะสมกว่านี้มาแทนคำว่า “ย้อนแย้ง” ไม่มี แต่อาจเรียกว่า “การสับขาหลอก” เหมือนกรดไหลย้อน เป็นต้น ในคำศัพท์ภาษาอังกฤษมีคำที่สื่อความหมายว่า การย้อนแย้ง หลายคำคือ (1) paradox = สิ่งที่ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง หรือ ตรงข้ามกันเอง อาจเป็นคำกับคำ หรือ ประโยคกับประโยคที่ไม่สอดคล้องกัน เช่น ยิ่งกิน ยิ่งหิว ยิ่งรีบ ยิ่งช้า (2) irony = สิ่งที่เกิดขึ้น ตรงข้ามกับสิ่งที่คาดหวัง การแฝงนัย ใกล้กับคำว่า bad luck = ความโชคร้าย อับโชค 2 นัยยะ (1) ออกแนว-ดัน เอาฮา เชิงเสียดสีเยาะหยัน ประชด พูดเอาเท่ (2) ตรงข้ามกับที่คิดไว้มาก ตัวอย่าง เจนไปเป็นครู ทั้งที่เมื่อก่อนเจนเกลียดโรงเรียนมากมาย หรือ แดนเพิ่งได้งานที่อยากทำมานาน แต่สุดท้ายแดนดันบอกว่างานไม่น่าทำ (3) contradict = ขัด หรือ แย้ง หรือ ขัดแย้ง เช่น ถ้าคำพูดขัดกันหรือขัดแย้งกันแสดงว่าคำพูดไม่ตรงกันหรือเหมือนกัน contradiction = การโต้แย้ง ขัดแย้งไม่ลงรอย ย้อนแย้งขัดกัน ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น แม้ในพระคัมภีร์ศาสนา หรือทางธรรมะ ก็มีความย้อนแย้งเยอะแยะ ที่เป็น Paradox เช่น คนต้นจะเป็นคนปลาย ได้ยังไงกัน, ผู้ที่โศกเศร้าจะเป็นสุข เศร้ากับสุขไปด้วยกันได้ไง, คนบาปกลายเป็นคนชอบธรรม, เราเป็นคนบาปและชอบธรรมในเวลาเดียวกันได้ด้วย เป็นต้น ตัวอย่าง Paradox ในชีวิตประจำวัน เช่น อยากบอกผู้หญิงคนหนึ่งว่ากำลังแอบชอบ แต่ก็ไม่กล้าบอกเพราะกลัวเขาจะรู้ว่าเราชอบ ตกลงจะให้รู้หรือไม่ให้รู้กันแน่, อยากรวยแต่ไม่อยากทำงาน, อยากเห็นแสงอาทิตย์แรกกลางน้ำค้างหกโมงเช้า แต่ไม่อยากรีบตื่นเช้า, อยากส่วนตัวแต่ไม่อยากโดดเดี่ยว, ชอบเที่ยว แต่ไม่ชอบเดินทาง, กินแกงเขียวหวาน แต่ไม่กินมะเขือพวง, กินน้ำปลาพริก แต่ไม่กินน้ำปลา, บนเจ้าที่ว่าถ้าเลิกสูบบุหรี่ จะแก้บนด้วยการไม่สูบบุหรี่, เปิดแอร์จนหนาวแล้วนอนห่มผ้าหนาๆ , กลัวผีแต่ชอบดูหนังผี, บ่นว่าอยากผอม แต่หยุดกินไม่ได้, ทุกคนอยากคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ แต่คนสร้างสิ่งยิ่งใหญ่กลับเป็นคนส่วนน้อย เป็นต้น “อัลแบร์ กามูส์” (1913-1960) ชาวฝรั่งเศสสร้างปรัชญาแห่งความไร้เหตุผลขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไร้สาระของชีวิตและความไร้เหตุผลของโลกที่ทำให้โลกไม่เป็นเช่นที่ควรจะเป็น พร้อมทั้งเสนอแนะทางเลือกที่จะช่วยทำชีวิตให้มีความหมายในโลกที่ไร้เหตุผลด้วย เขาสรุปว่า ความทุกข์ยากลำบากของมนุษย์และความชั่วร้ายต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งล้วนเป็นความจริงที่ขัดแย้งกับคำสอนนี้ “โลกที่ดีงามอยู่ในตัวจะมีสิ่งที่เลวร้ายแฝงอยู่ได้อย่างไร” ความไร้เหตุผลจึงอาจปรากฏอยู่เหนือบริบทที่ไม่ถูกนับเนื่องให้สังกัดอยู่ในความหมายใดๆ แนวคิดคน 3 กลุ่มในสังคม คนที่เกิดความคิดที่ย้อนแย้งในตัวเองก็จะมีวิธีการจัดการแก้ไขตนเอง ในทางจิตวิทยากลไกใน “การจัดการความย้อนแย้งทางความคิด” ของคนนั้น เรียกว่า “Cognitive Dissonance” ซึ่งประยุกต์มาจากหลักการใช้กลไกป้องกันทางจิต (Defense mechanism) ของ Sigmund Freud แยกได้ 3 กลุ่ม คือ (1) พวกอนุรักษ์ที่เห็นตามของเดิม (2) พวกวิเคราะห์ที่พยายามหาเหตุผลมาอธิบาย (3) พวกปล่อยวางที่ยินดีรับความเห็นต่าง ไม่ยึด ego ไม่สนใจว่าจะไปกระทบกระเทือนสิ่งใดหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่เขลาที่จะเชื่อทั้งหมดเป็นพวกที่มีความยืดหยุ่นมาก จึงเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีที่สุดใน 3 พวกนี้ ด้านคนที่ยังสับสนในตัวตน อาจยิ่งเสแสร้งแกล้งสร้างความคลุมเครือแก่ตัวตนมากยิ่งขึ้นก็ได้ อาจปิดบังซ่อนเร้นตัวตน แต่มีความอยากเด่นดัง อยากได้ อยากมี ที่ล้วนเป็น “จริตปิดบัง” สิ่งไม่ดีที่ซ่อนอยู่ภายในจิตและตัวตน คนจำพวกนี้อาจทำให้สังคมยิ่งเสื่อม เป็นอันตรายต่อสังคม เพราะจะทำให้การวิเคราะห์สังคมผิดเพี้ยนได้ เช่น อาจเห็นว่าสังคมมีความสุข (happiness) แล้ว สังคมจึงดีอยู่แล้ว (Subjective well being : SWB) ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรมาก เป็นความพอใจในชีวิตของตนเอง ด้วยมีคนสร้างภาพหลอกไว้ โลกทัศน์ 2 ด้านในการแก้ไขปัญหาสังคม (world outlook, world view, world vision) เมื่อก่อนมีการเสนอแนวทางการเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมและยุติธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยใช้ “แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย” แนวคิดนี้ในยุโรปตะวันตกประสบความสำเร็จสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1950-1960 แต่ทศวรรษ 1970 เสื่อมความนิยมลงเพราะ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เมื่อ 100 ปีก่อนมีการเสนอแนวคิด “Commune Anarchism” หรือ “ชุมชนนิยมแบบไม่พึ่งรัฐบาล” โดย พีเตอร์ โครพอตกิ้น (1842-1921) ชาวรัสเซีย เป็น “สังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “ระบบสหกรณ์แบบประชาชนจัดการตนเอง” โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง แน่นอนว่าจากคำว่าการมีพฤติกรรมเหนือการกระทำที่ย้อนแย้งนี้ ยังไปเกี่ยวพันถึง “กรอบความคิดของบุคคลนั้น” คือ เกี่ยวกับ “ทรรศนะ” (view) ปัจจุบันตามกรอบ “โลกทัศน์ของโลก” (world outlook) ด้วยอิทธิพลของแนวคิด “โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่” (neoliberal globalization) ที่ทำให้สังคมเกิดความเสื่อมถอย ติดภาพลบ หรือที่เรียกว่า “โลกาวิบัติ” ควบคู่กันไปด้วย ทำให้สังคมโลกแยกแนวคิดไปสองทาง ทางหนึ่งว่า โลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อรัฐและสังคมแน่โดยเฉพาะผลทางลบ อีกทางเห็นว่า รัฐสามารถที่จะต้านทานผลกระทบทางลบของโลกาภิวัตน์ ได้ และสามารถที่จะทำให้โลกาภิวัตน์เป็นประโยชน์ต่อรัฐและสังคมได้ ยิ่งปัจจุบันบทบาทการเผยแพร่ชี้นำของสื่อ การนำเสนอข่าวที่ไม่สมควรเหมาะสม เป็นต้นเหตุสำคัญส่วนหนึ่งทำให้สังคมวิบัติมากขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ เมื่อสังคมวิบัติ ก็ต้องกำจัดเหตุที่ต้นตอ Young Generation vs. A Soul mind in a sound body! คำกล่าวความเป็นจริงของชีวิต โดย Miletus (624 – 546 BC) ปราชญ์ชาวกรีก ได้กล่าวไว้ ว่า “A Sound Mind is in a Sound Body” หรือ “จิตที่สดใสอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” กล่าวคือ “คนกับจิต” มีความสัมพันธ์กัน “จิตใจที่ดีงาม ย่อมนำแสงสว่างมาสู่ชีวิต” (Soul mind for enlighten life; a healthy body) ทำให้มีปัญหากับคน “โรคจิต” “คนวุฒิภาวะต่ำ” (EQ) ช่วงก่อนปี 2560 อาจเห็นคนจำพวกนี้ได้มาก คนที่ถือกระแสหลัก “วูบวาบ ชั่วครู่ชั่วยาม” โน้มนำไปตามกระแส ชอบเสพเฟกนิวส์ ไม่ยึดถือ “ความชอบธรรม” เป็นที่ตั้ง และต่อมาเพิ่งตื่นรู้ว่า รัฐประหารไม่ใช่การปฏิรูป นำพาประเทศมาหลงทิศ มาพร้อมกับการเกิดกระแสของ “คนรุ่นใหม่หัวใหม่” (New Young Generation) ที่เกิดขึ้นมาท่ามกลางความขัดแย้ง ที่ฝ่ายอำนาจนิยมต้องยอมรับในความเห็นต่าง เพราะ เราต้องเชื่อว่าตรรกะด้านเดียวที่ตัวเอง และตามที่พวกพ้องเชื่อมานำเสนอ โดยไม่เคารพต่อความเป็นจริงอีกด้านของแต่ละฝ่าย ตราบนั้นเราจะยังคงจมอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง (Conflict) ปรัชญาชาวบ้านช่วยผู้อ่อนแอผู้ทำคุณ น่าคิดว่าเหตุใดเบื้องสูง ไม่ควรเป็นเจ้าขุนมูลนาย ไม่ควรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรเป็นเทพเทวดาต่างๆเพราะเบื้องสูงควรเป็นคนชรา เด็ก ผู้ป่วย ด้วยเหตุว่าทุกคนเคยเป็นเด็ก และต้องป่วยตลอดจนแก่ชรา ดังนั้นยามแข็งแรงสร้างผลผลิตได้ เราควรสร้างเผื่อคนชรา คนป่วยและเด็ก ถ้าเราไม่สร้างให้เขาแล้วใครจะสร้างจึงเป็นเรื่องผิดหลงมากที่จะไปบูชาเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะพวกเขาแข็งแรงและดูแลตนเองได้อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่รัฐหรือประชาชนจะไปทุ่มเททรัพยากรเพื่อผู้ที่แข็งแรงอยู่แล้ว มาทุ่มเทเวลาและทรัพยากรให้คนป่วย คนชราและเด็กที่อ่อนแอกว่าเรา เพราะในไม่ช้าเราทุกคนคือ “ผู้จะอ่อนแอ” กรอบความคิดมุมมอง “ดุลแห่งอำนาจ” มองสังคมโลกตามทฤษฎีชนชั้นนำ แยกที่มาของผู้มีอำนาจรัฐ ดังนี้ (1) กลุ่มการเมืองการปกครอง เป็นตระกูลศักดินา หรือ สืบทอดอำนาจ (2) กลุ่มชนชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เผ่าพันธุ์ (3) กลุ่มการค้า เศรษฐกิจ นายทุน เจ้าของทรัพย์ กิจการใหญ่ ที่ถือครองปัจจัยการดำรงชีพ รวมทั้งยุทโธปกรณ์มากที่สุด (4) กลุ่มศาสนา ผู้นำความเชื่อทางศาสนา (5) กลุ่มเครือญาติอิทธิพล ชาติตระกูลใหญ่ ผู้อยู่เบื้องหลัง อาจเรียกว่า “บ้านใหญ่” มุมมองจาก 5 กลุ่มจะเห็นการนำปัจจัยที่ไปสร้าง “ศูนย์กลางหรือรวมศูนย์กลางแห่งอำนาจ” ผู้นำสังคมที่อยู่บนฐานใดสะท้อนให้เห็นกรอบมุมมองในการบริหารประเทศได้ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการตีกรอบความคิดต่างๆ ในการบริหารเช่นกัน ไม่ว่าจะกรอบความคิดเรื่อง ตรรกะวิบัติ หรือ ตรรกะย้อนแย้งได้ เช่น อินเดียประเทศทางศาสนา ความเชื่อ ก็มุ่งเน้นทางสรณะ สาระชีวิต มีความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาสังคม รัสเซีย ยุโรปมุ่งเน้นทางชนชาติ ไทยกลับมุ่งเน้นในทางปกครองก็มีแต่ยึดอำนาจกับเลือกตั้ง ความพยายามอ้างเหตุผล “สังคมพหุ” ในการบริหารบ้านเมือง คงเป็นเพียงอ้างเพื่อความชอบธรรม ดั่งตรรกะวิบัติ หรือ ตรรกะย้อนแย้งที่กำลังกล่าวถึงนั่นเอง เพราะไม่น่าจะเป็นจริง หรือขาดเหตุผลสมควรรองรับ