จากข่าว "พายุลูกเห็บ" ถล่มบริเวณบ้านหนองลาว หรือถนนสายพะเยา- ป่าแดด ต.ห้วยแก้ว อ.ภูกามยาว จ.พะเยา เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดทะเลหมอกและคล้ายหิมะขึ้นทั่วบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ลูกเห็บคงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แต่ลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร...! -ลูกเห็บคืออะไร...! "ลูกเห็บ" คือ ก้อนน้ำแข็งที่เกิดจากมวลอากาศร้อนที่ลอยตัวสูงขึ้น และพัดพาเม็ดฝนลอยขึ้นไปปะทะกับมวลอากาศเย็นด้านบน มักเกิดขึ้นในเมฆ ที่เรียกว่า "คิวมูโลนิมบัส" หรือ cumulonimbus clouds จากนั้น เม็ดฝนจับตัวเป็นเม็ดน้ำแข็งซึ่งตกลงมาเจอมวลอากาศร้อนที่อยู่ด้านล่าง ความชื้นจะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งให้เพิ่มขนาดใหญ่ขึ้น -"พายุลูกเห็บ"เกิดขึ้นอย่างไร...! กระแสลมแรงพัดพาเม็ดฝนขึ้นไปในกลุ่มเมฆที่มีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งที่สูงมีอากาศเย็นมากทำให้เม็ดฝนแข็งตัว ยิ่งขึ้นไปสูงยังมีเกร็ดหิมะเข้ามาเกาะเม็ดน้ำแข็ง ครั้นตกลงมาอีกส่วนล่างของกลุ่มเมฆซึ่งเย็นน้อยกว่าด้านบน ความชื้นเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็ง แล้วกระแสลมก็พัดเอาเม็ดน้ำแข็งกลับขึ้นไปด้านบนของกลุ่มเมฆอีก ที่อุณหภูมิความชื้นรอบ ๆ เม็ดน้ำแข็งพอกเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เม็ดน้ำแข็งก็โตขึ้นอีกนิด เม็ดน้ำแข็งลอยสูงแล้วตกลงมา วนซ้ำไปมาหลายครั้งในกลุ่มเมฆ ในขณะเดียวกันเม็ดน้ำแข็ง สะสมความชื้นที่ด้านล่าง ซึ่งต่อไปจะแข็งตัวในที่สูงเย็น ด้วยกระบวนการเช่นนี้ เม็ดน้ำแข็งก็ใหญ่ขึ้นทุกที เมื่อใดที่มันใหญ่กว่ากระแสลมพายุจะพยุงมันไว้ได้ มันก็จะตกจากอากาศลงยังพื้นดินครั้งละจำนวนมากๆ จึงเรียกว่า"พายุลูกเห็บ" ถ้าเราทุบก้อนลูกเห็บโต ๆ ที่เพิ่งตกถึงพื้นให้แตกครึ่ง เราจะเห็นภายในลักษณะเป็นวงชั้นน้ำแข็ง ซึ่งแสดงถึงการก่อเกิดลูกเห็บ -ลูกเห็บกินได้ไหม...! ลูกเห็บ สามารถรับประทาน เหมือนกับน้ำฝน แต่ปัจจุบันนี้ด้วยสภาวะที่อากาศสกปรก ประกอบไปด้วยฝุ่นละออง สารเคมี แก๊สพิษต่างๆเชื้อโรค และแบคทีเรียมากมาย การที่เก็บมากินก็ต้องพิจารณามากๆหน่อยคะว่ามีสิ่งสกปรกปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ถึงแม้จะมาจากที่สูง ถึงแม้จะขาวสะอาด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะบริสุทธิ์ หรือสะอาด 100 %