สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า หนึ่งในสี่พระเกจิชื่อดังในอดีต “จาด จง คง อี๋” ช่วงสมัยสงครามอินโดจีน ต่อถึง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัตถุมงคลของทั้งสี่รูปที่จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในยามวิกฤตเช่นนั้น ได้สร้างปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏจนเป็นที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธา และยังคงเป็นที่นิยมสะสมอย่างมากในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์มาตราบจนปัจจุบัน กล่าวถึง หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2408 ที่บ้านสำโรง ปัจจุบันนี้คือ ต.โรงหีบ อ.บางคนที บวชเป็นสามเณรที่วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเหมืองใหม่ ได้รับฉายา "ธมฺมโชโต" อันมีความหมายว่า ผู้รุ่งเรืองโดยธรรม ท่านจำพรรษาที่วัดเหมืองใหม่มาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2448 ชาวบ้าน ต.บางกะพ้อม ได้อาราธนาท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมที่ว่างลง (วัดบางกะพ้อม นั้น ในหนังสือ “ประวัติจังหวัดสมุทรสงคราม” พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระเมรุศพ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2505 ได้กล่าวถึงวัดบางกะพ้อมไว้ว่า “ปรากฏว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในราวสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ผู้สร้างไม่ปรากฏชื่อ”) หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อคงจึงรับตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองวัดบางกะพ้อมตั้งแต่นั้นสืบมา และด้วยวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรม ทำให้ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทุกชั้นวรรณะ ท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2486 สิริอายุได้ 78 ปี จากการที่หลวงพ่อคงสนใจศึกษาร่ำเรียนวิทยาการต่างๆ มากมายจากพระเกจิอาจารย์หลายท่านทำให้ท่านมีความชำนาญการและแตกฉานในทุกแขนงวิชา ไม่ว่าจะเป็น การลงกระหม่อม, ทำพระขรรค์, ทำมีดหมอ, ทำน้ำมนต์ไล่ผี, การแพทย์แผนโบราณ, การทำลูกอม, ด้านเมตตามหาอุด ฯลฯ วัตถุมงคลของท่านล้วนได้รับการยกย่องการกล่าวถึงในด้านพุทธคุณและปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏ มีอาทิ เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก, เหรียญหล่อพิมพ์เทวดาถือหางนกยูงหรือเหรียญอรุณเทพบุตร, เหรียญหนุมานแบกพระโมคคัลลาน์สารีบุตร, ลูกอม และตะกรุด ฯลฯ โดยเฉพาะ "เหรียญปั๊มรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2484" ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเหรียญ นับเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง และหาดูหาเช่าค่อนข้างยาก แต่สำหรับฉบับนี้ จะมาคุยถึงเหรียญอีกเหรียญหนึ่งซึ่งนับเป็นเหรียญหล่อที่มีความแตกต่างจากเหรียญหล่อที่เห็นกันโดยทั่วไป ที่ส่วนใหญ่สร้างในรูปทรงกลม ทรงรี ทรงเหลี่ยม หรือทรงเสมา นั่นคือ “เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก” ซึ่งลักษณะเป็นเหรียญหล่อรูปทรงเม็ดมะปราง ครับผม พิมพ์อุบน หน้า-หลัง วัดบางกะพ้อม เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก นี้ เป็นเหรียญหล่อรูปทรงเม็ดมะปราง ขอบข้างเว้าเป็นหยัก แบบหูในตัว โดยจะมีการจัดสร้างอยู่ 2 วัด คือ “วัดบางกะพ้อม” ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และ “วัดแหวนหาย” ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือเป็นวัดที่หลวงพ่อคงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและเป็นที่ที่ท่านละสังขารอีกด้วย พุทธลักษณะของเหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวกทั้ง 2 วัด จะมีพิมพ์ด้านหน้าคล้ายกัน คือ เป็นรูปหนุมานแบกพระอัครสาวก (พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร) ไว้บนมือทั้งสองข้าง และพระอัครสาวกทั้งสองหันข้างในท่าพนมมือ ตรงกลางเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร ประทับยืน เหนือศีรษะหนุมาน แสดงปางประทานพร แต่พิมพ์ด้านหลังจะแตกต่างกัน โดยแยกแยะได้ไม่ยากนัก ดังนี้ เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก วัดบางกะพ้อม ซึ่งจะเรียกกันว่า “พิมพ์อุบน” ด้านหลังจะเป็นอักขระขอมเรียงกัน อ่านได้ว่า “อุ เม อะ มะ อุ นะ มะ ภะ ธะ อุ” คือจะมีอักขระขอมตัว “อุ” ทั้งด้านบนและด้านล่างเหรียญ พิมพ์อุล่าง หน้า-หลัง วัดแหวนหาย ส่วน เหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก วัดแหวนหาย เรียกว่า “พิมพ์อุล่าง” ด้านหลังเป็นอักขระขอมที่เรียงกันอยู่ อ่านได้ว่า “พุท ธะ สัง มิ อุ นะ พะ ธะ อุ” ซึ่งจะมีตัว “อุ” เฉพาะด้านล่างเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาจากเนื้อหามวลสารของทั้ง 2 วัด ได้อีกประการหนึ่ง คือ กระแสเนื้อโลหะของวัดบางกะพ้อมจะออกไปทาง “เนื้อเหลือง” ส่วนของวัดแหวนหายจะออกไปทาง “เขียวเข้ม” แต่ไม่ว่าจะเป็นเหรียญหล่อหนุมานแบกพระอัครสาวก ของวัดไหนก็ตาม ก็ล้วนสร้างโดยหลวงพ่อคง ดังนั้น เหรียญทุกเหรียญจึงมีความเข้มขลัง ทรงพุทธคุณเป็นเลิศ และเป็นที่แสวงหากันอย่างกว้างขวางครับผม