ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล เกิดเป็นมนุษย์ต้องรักษาศีลธรรมให้อยู่ในมาตรฐาน ให้สูงกว่าเดรัจฉานไว้เสมอ ผมมาสนิทกับจ่าสมจินต์ที่ผมเรียกสั้น ๆ ว่า “พี่จ่า” ก็ในตอนที่มีการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดร้อยเอ็ด ใน พ.ศ. 2524 เพราะต้องตะลอน ๆ นอนกลางดินกินกลางทรายอยู่ร่วมเดือน แบบว่าค่ำไหนนอนนั่น ข้าวปลาอาหารก็ยกครัวไปทำตามศาลาวัดและหอประชุมหมู่บ้าน ส่วนท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ผู้เป็นแกนนำในการปราศรัยหาเสียง ก็ใช้รถตู้นอนไปนอนตามวัดและหมู่บ้านต่าง ๆ เช่นกัน ห้องน้ำก็ประกอบง่าย ๆ ใช้เสาอะลูมิเนียมปักลงสี่มุม เสานี้สูงกว่าศีรษะเล็กน้อย ข้างในกว้างยาวราว 1 คูณ 1 เมตรครึ่ง พอตั้งเก้าอี้พลาสติกเจาะรูตรงกลางไว้นั่งปลดทุกข์ ใต้เก้าอี้มีถังรองเอาความทุกข์ไปเททิ้งได้ และเหลือพื้นที่อีกส่วนหนึ่งวางถังพลาสิติกขนาดใหญ่ไว้ใส่น้ำเพื่อตักอาบร่างกาย ที่ผู้สื่อข่าวก็ได้มาเห็นแล้วก็พูดขึ้นว่า “นี่คือสงครามจรยุทธ์แบบเรียบหรู” พี่จ่ากับ ส.ส. และผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ของพรรคอีก 5-6 คนที่ติดตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มาหาเสียงนอนบนศาลาวัด โดยกางมุ้งเรียงรายกันไป ส่วนพี่จ่ามักจะชอบปลีกตัวไปนอนในมุมไกล ๆ ห่างจากคนอื่นบนศาลา เพราะเหตุที่พี่จ่าบอกกับใคร ๆ ว่า แกกรนเสียงดัง แต่ความจริงก็คือแกต้องประกอบ “พิธีกรรม” บางอย่างก่อนนอน ซึ่งก็ไม่มีใครทราบทำอะไรบ้าง เนื่องจากแกมักจะอยู่แต่ในความมืดและทำอะไรเงียบ รู้แต่ว่าแกตื่นแต่เช้าก่อนใครทุกคืน รีบเก็บที่นอนหมอนมุ้งจนเรียบร้อย และถ้าวัดไหนสะดวก แกก็จะอออกเดินตามเจ้าอาวาสไปรับบาตรในหมู่บ้านทุกเช้า อันเป็นวิธีการหาเสียงที่ดีมาก ๆ วิธีหนึ่ง แม้แกจะไม่เอ่ยปากบอกชื่อบอกเบอร์ผู้สมัครของพรรค ยกเว้นจะมีคนถาม แต่ก็ทำให้เป็นที่จดจำของชาวบ้าน รวมถึงที่มีข่าวสารในหมู่บ้าน เช่น เขาคุยกันเรื่องอะไรในแต่ละวันนั้น หรือใครเป็นคนที่เด่นดังในหมู่บ้าน แกก็จะเอามาบอกกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ พอท่านออกปราศรัยก็จะเอาเรื่องราวที่พี่จ่าได้ยินได้ฟังมานั้นมาสอดแทรกในการปราศรัยแทบทุกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความที่พี่จ่าชอบกินหมาก ระหว่างที่ ส.ส.คนอื่น ๆ ขึ้นปราศรัย แกก็จะเข้าไปนั่งในกลุ่มชาวบ้าน ทำตัวกลมกลืนไปกับผู้คน เช่น ขอหมากคุณย่าคุณยาย(ทางอีสานเรียกว่า “แม่ใหญ่”)มากิน สร้างความเป็นกันเองได้เป็นอย่างดี นับว่าแกได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งเป็นอย่างมาก อีกสิ่งหนึ่งที่พี่จ่าชอบทำตลอดเวลาที่ร่วมเดินทางไปหาเสียงที่จังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนั้นก็คือ “ไปขอของดี” คือเมื่อไปถึงวัดไหนหมู่บ้านไหน แกก็จะเข้าไปถามไถ่พูดคุยกับพระบ้างชาวบ้านบ้าง เพื่อถามหา “เกจิ” หรือผู้ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ แล้วแกก็จะไปหาเกจิผู้นั้น และสนทนาธรรมอย่างเพลิดเพลิน ทั้ง ๆ ที่โดยปกติแกจะไม่ค่อยชอบพูดคุยกับใครมากนัก บางทีก็ได้ “ของดี” เป็นเหรียญพระ พระผง เครื่องรางและของขลังต่าง ๆ ถ้าได้มาเยอะแกก็เอามาฝากคนอื่น ๆ อีกด้วย รวมถึงเอามาให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ด้วย ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็พูดตอบอย่างกินใจ แบบที่ใครก็คาดไม่ถึงว่า “พี่จ่า(ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบเรียกใครต่อใครว่า “พี่” เสมอ แม้แต่ผมท่านก็เรียกว่า “พี่เจ๋ง”)เก็บไว้เองเถอะ ผมนะมีของดีมากแล้ว พี่จ่าเองนั่นแหละเป็นของดีอีกคนหนึ่งของผม ผมนี่แหละเคารพนับถือพี่จ่ามาก ๆ พี่จ่าเป็นคนดีสำหรับผมเสมอ” การเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคกิจสังคมประสบความพ่ายแพ้ แต่เป็นความพ่ายแพ้ที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึกไว้ นั่นก็คือการเกิดขึ้นของ “โรคร้อยเอ็ด” อันหมายถึงการซื้อเสียงด้วยเงินมหาศาลอย่างโจ๋งครึ่ม (ในเวลานั้นมีกฎหมายกำหนดให้ผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแต่ละคนใช้เงินในการหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 150,000 บาท แต่ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อ 9 สิงหาคม 2524 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีการใช้เงินในการหาเสียงราว 100 ล้านบาท การซื้อเสียงนั้นมีทั้งโดยทางลับและทางที่เปิดเผย ในทางลับก็คือใช้ระบบหัวคะแนนแจกเงินให้กันเป็นกลุ่ม ๆ คิดราคาตามรายหัวของคะแนนเสียงที่คาดการณ์ว่าจะมีคนมาลงให้ เช่น หมู่บ้านนี้หัวคะแนน ก.และ ข.เป็นผู้ดูแล โดยมีรายชื่อเป็นทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชนของลูกบ้านเหล่านั้นมายืนยัน ก็จะจ่ายให้รายชื่อละ 300 บาทบ้าง 500 บาทบ้าง ซึ่งโดยปกติการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นจะซื้อเสียงกันเป็นหลักสิบ เช่น หัวละ 40 - 50 บาท แต่ไม่เกิน 100 บาท ดังนั้นถ้ามีหมู่บ้านสัก 100 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 500 คน ก็จะใช้เงินถึง 15 - 25 ล้านบาทต่อผู้สมัคร 1 คน ผู้สมัครที่สำคัญมีอยู่ 2 คน ก็จะใช้เงินในส่วนซื้อเสียงทางลับนี้ไปแล้วกว่า 30 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ส่วนการซื้อเสียงอย่างเปิดเผยก็ทั้งการสัญญาว่าจะให้ และการเดินแจกเงินตามหน้าบ้าน รวมถึงร้านค้าในตลาด ซึ่งแม้ว่าจะปรากฏเป็นข่าวสารตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่มีการแจ้งข้อหากันและกันของผู้สมัครแต่ละพรรคว่า มีดาราและตำรวจไปช่วยบางพรรคหาเสียงอีกด้วย แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะกฎหมายเลือกตั้งสมัยนั้นยังไม่รัดกุม รวมถึงที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็เกรงกลัวตัวผู้สมัครที่เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ส่วนพรรคกิจสังคมนั้นส่งรองหัวหน้าพรรค คือ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา อดีตนายตำรวจ “อัศวินแหวนเพชร” ในยุคพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ทำให้ภายหลังเลือกตั้งก็ไม่มีใครทำอะไรใครได้ เหลือไว้แต่ “แผลเป็น” ของ “โรคร้อยเอ็ด” ดังกล่าว) ซึ่งในคืนของวันที่ประกาศผลความพ่ายแพ้ ที่พวกเราเข้ามาฟังผลอยู่ในตัวจังหวัด โดยมารวมตัวกันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ผมสังเกตเห็นว่าพี่จ่ามีอาการซึมเศร้าเป็นอย่างมาก และท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คงสังเกตเห็นด้วย จึงให้ผมแอบไปถามพี่จ่าว่าเป๋นอะไรในทันที พี่จ่าพอทราบว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นห่วงก็ดูมีสีหน้าชุ่มชื่นขึ้น พร้อมกับพูดยิ้ม ๆ ว่า “พี่บนบานไว้ทุกที่ทุกวัดแหละ ว่าขอให้พรรคของเราชนะ เมื่อเช้าตอนที่พี่ไปดูชาวบ้านมาลงคะแนน ก็ยังไปถามแม่ใหญ่คนหนึ่งที่แกกำลังนั่งยอง ๆ ไหว้ต้นโพธิ์หน้าวัดที่แกเพิ่งไปลงคะแนนมา ว่าสบายดีไหม มานั่งไหว้อะไรที่นี่ แม่ใหญ่แกก็ตอบว่ามาไหว้ต้นโพธิ์ขอให้พ่อใหญ่คึกฤทธิ์ชนะ แล้วพี่ก็ถามแม่ใหญ่คนนั้นว่าแกเลือกใคร แกตอบว่าอย่างไรรู้ไหม แกตอบว่าลงคะแนนให้พ่อใหญ่เกรียงศักดิ์ พี่ก็เลยร้องอ้าว มันก็แพ้นะซี ทำไมแม่ใหญ่ทำอย่างนั้นหล่ะ พอแกตอบพี่ก็สงสารแกมาก ๆ แกบอกว่า เอาเงินเขามาแล้ว แล้วก็ร้องไห้ฮือๆๆ” นั่นคือการสนทนาที่ยืดยาวที่สุดกว่าครั้งใด ๆ ที่ผมได้เคยคุยกับพี่จ่า วันต่อมาผมก็ยังเห็นพี่จ่าหน้าตายังคงเศร้าหมองอยู่อย่างเดิม จึงเข้าไปทักทายไถ่ถามด้วยความเป็นห่วง แกบอกว่าไม่มีอะไรหรอก หลังเลือกตั้งที่ร้อยเอ็ดแกก็เกิดความ “สังเวชใจ” คือมันเศร้าเสียจนทำใจได้แล้วว่า อย่างน้อยคนร้อยเอ็ดก็เป็นคนที่มีศีลธรรม เป็นคนกตัญญูรู้คุณ รับเงินเขามาแล้วก็ต้องเลือกเขาเป็นการตอบแทน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคุณธรรมที่ดี ที่รู้ว่าควรเลือกผู้แทนอย่างไร เพียงแต่ศีลธรรมนั้นอยู่เหนือคุณธรรมเสมอ ผมที่แม้จะเคยเรียนวิชาปรัชญาและหลักศาสนาต่าง ๆ มาบ้าง ฟังแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เลยถามแกไปด้วยความอยากรู้ว่า “ศีลธรรมอยู่เหนือคุณธรรมเสมอ หมายถึงอะไร” พี่จ่าตอบด้วยใบหน้าซื่อ ๆ ว่า “คุณธรรมนั้นเป็นแค่สิ่งดีงามที่เกิดจากการยอมรับร่วมกัน เปลี่ยนแปลงได้ไปตามเวลาและสถานที่รวมถึงตัวผู้คนแต่ละคนนั้นด้วย แต่ศีลธรรมนั้นเป็นหลักศาสนา ที่เป็นความจริงสูงสุด ที่คนทุกคนต้องถือปฏิบัติ เป็นความดีที่มั่นคงยั่งยืน ความดีทางศีลธรรมจึงอยู่เหนือความดีทางคุณธรรมเสมอ” ก่อนที่จะขยายความต่อไปอีกอย่างน่าฟังว่า “ดังนี้แล เราจึงเรียกมนุษย์ให้แตกต่างจากสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นสัตว์โลกอันประเสริฐ คือ ประเสริฐด้วยปัญญาที่รู้คิด รู้แยกแยะ ว่าอะไรดีหรือไม่ดี และอะไรคือความดีที่สูงสุด” ฟังจบผมแทบจะเผลอพนมมือแล้วพูดออกไปว่า “อัญญา วะตะโก โกณฑัญโญ” อย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสกับปัญจวัคคีย์ หลังจากที่ได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” นั่นเลยทีเดียว