ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ปริศนาคำสอนอันแยบยลของชีวิต มักจะชี้ให้เห็นข้อประจักษ์อันเป็นภาพเงาของความหวังอันเป็นภาพเงาแห่งสัจจะ ความหวังของการมีอยู่และเป็นอยู่ที่เป็นจริง...บนนัยแห่งการตระหนักรู้แห่งศาสตร์และศิลป์ในความลึกซึ้งแห่งจิตวิญญาณ...ทั้งหมดคือสัญญะอันสูงส่งและเป็นอัศจรรย์ภายใต้การใคร่ครวญอันล้ำค่าแห่งความเป็นชีวิตหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดผลลัพธ์ของความสุขและทุกข์ออกมาอย่างเข้าใจ” สาระที่งดงามเบื้องต้นคือ ประกายแห่งการรับรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตอันมีความหมายสู่ศรัทธาที่สื่อผ่านออกมาจากหนังสือที่สร้างความอิ่มเอมแก่ภาวะอันเป็นเนื้อในแห่งมโนสำนึกอันน่ายกย่อง... “เฝ้าต้นไม้รอกระต่าย” (Watching The Tree) งานเขียนของ “เอเดลีน เหยียน หม่า” (Adeline Yen Mah)นักเขียนหญิงเชื้อสายจีน เติบโตอยู่ที่เมืองจีนจนอายุ 14 ปี จึงได้เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษจนเรียนจบแพทยศาสตร์ และยึดอาชีพการเป็นแพทย์เรื่อยมา จนกระทั่งตัดสินใจวางมือและมุ่งเข้าสู้เส้นทางนักเขียนอาชีพ หลังจากที่ผลงานเล่มแรกของเธอ “Falling Leave”โด่งดังมียอดขายทั่วโลกกว่า1ล้านเล่ม…มันคือบทบันทึกที่แสนจะเจ็บปวดและขมขื่นของเธอเมื่อเยาว์วัยที่ยากจะหลุดพ้นไปจากความทรงจำ...ด้วยเหตุที่แม่ของเธอได้ตายไปหลังจากที่คลอดเธออกมาเพียง 2 สัปดาห์ เธอจึงถูกตราหน้าว่าเป็นตัวอัปมงคลของครอบครัวไปอย่างน่าเวทนา...เธอได้รับการกดขี่ข่มเหงจากแม่เลี้ยงเชื้อสายจีน-ฝรั่งเศสอย่างไร้ความกรุณาในเวลาต่อมา...ประหนึ่งเป็นพลเมืองชั้นสองของครอบครัวตัวเอง หลังความสำเร็จอย่างท่วมท้นจากหนังสือเล่มแรก “Chinese Cinderella” ก็กลายเป็นหนังสือเล่มที่สองของเธอที่แสดงถึงชะตากรรมของวัยเด็กที่เธอพานพบ เป็นหนังสือที่มุ่งหวังที่จะมอบเป็นของขวัญแห่งพลังใจในการต่อสู้ของเด็กๆที่มีชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับเธอ กระทั่งมาถึงหนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นเล่มที่ 3...เธอได้ถักร้อยในเรื่องภูมิปัญญาของจีน ผสานเข้ากับประสบการณ์ทั้งด้านดีด้านร้ายของเธอเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน รวมทั้งได้เชื่อมโยงกับปรัชญาชีวิตที่เกี่ยวร้อยสัมพันธ์ถึงกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก อันลึกซึ้งและเปี่ยมเต็มไปด้วยแก่นสาระความคิด...โดยมีคุณปู่ของเธอเป็นผู้ปลูกฝังและให้แรงบันดาลใจต่อการประกอบสร้างชีวิตสู่โลกทัศน์และชีวทัศน์ใหม่อันน่ายกย่องและเป็นแบบเรียนแห่งชีวิตอันสำคัญ.. “คุณปู่กับฉันมีสายสัมพันธ์ร่วมกันทางใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเราต่างไม่เคยเอื้อนเอ่ยออกมาตลอดชั่วชีวิตของท่าน คุณปู่เป็นนักธุรกิจแต่สนใจหนังสือหนังหามากกว่าเงินทอง ตอนอยู่เซี่ยงไฮ้สมัยยังเด็กๆ ฉันมักนั่งเล่นคนเดียวเป็นชั่วโมงตรงหน้าต่างติดกับห้องของท่าน ผ่านหน้าต่างฝรั่งเศสยาวจรดพื้นเห็นคุณปู่ฝึกเขียนหนังสือ อ่านตำราอี้จิง มีบางคราวที่ท่านให้ฉันช่วยเตรียมหมึกโดยฝานแท่งหมึกบนแท่นหินเก่าแก่ที่พ่อท่านทิ้งไว้ให้...ฝีมือทางศิลปะของคุณปู่นั้นเยี่ยมยอดแต่ฉันไม่ได้ติดตัวมาเลย” บทเริ่มต้นแห่งชีวิตของเอเดลีนที่เข้าสู่แวดวงวรรณกรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยสัมพันธภาพ เป็นสัมพันธภาพที่ถูกยึดโยงด้วยหัวใจ... แต่ด้วยบริบทของการเป็นลูกเลี้ยงและเป็นผู้หญิงคนเล็กสุดในครอบครัวซึ่งมีลูกเจ็ดคน “ฉันรู้ตัวดีว่าไม่เป็นที่ต้องการ รู้ดีว่าครอบครัวของฉันมองฉันอย่างต่ำต้อยด้อยค่าที่สุด เวลาอยู่บ้านฉันรู้สึกว่าโลกทั้งโลกหม่นหมอง มันช่างจริงจังล้ำลึกและฉันก็มองไม่เห็นทางออก ไม่มีทั้งปัญญาและความเกลียดชังมากพอที่จะไม่แยแสต่อความโหดร้ายและการไม่ยอมรับอยู่เสมอได้” “เอเดลีน” ต้องถูกแม่เลี้ยงส่งไปเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนคาทอลิก ตั้งแต่เมื่ออายุได้สิบขวบ...ช่วงนั้นเธอไม่ระแคะระคายสักนิดว่าจดหมายทุกฉบับของตัวเอง ทั้งที่จะรับและที่จะส่งต้องส่งผ่านผู้ปกครองให้ได้ตรวจสอบก่อนทุกครั้ง....เธอรู้แต่ว่าเธอไม่ได้รับข่าวคราวจากใครเลยตลอดสี่ปีนั้น “ช่วงนั้นฉันไม่มีใครเลยนอกจากคุณปู่ ถึงจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆแค่สามหน แต่...แต่ละครั้งก็ล้ำค่าสำหรับฉัน ตอนนั้นฉันไม่รู้หรอกว่าเวลานั้นสำคัญต่อพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจของฉันแค่ไหน” เธอได้วิเคราะห์ในส่วนของการตีความตรงส่วนนี้โดยอ้างถึงแนวทางความคิดของนักจิตวิทยาชาวสวีเดน “อีริค อีริคสัน”ในประเด็นสำคัญที่ได้เน้นย้ำทางความรู้สึกพื้นฐานซึ่งจักต้องมี “ใครสักคนที่ใส่ใจ” ได้ปลูกฝังให้แก่เด็กโดยความรูสึกนี้ จะอยู่ที่นัยสำคัญตรงที่ว่า.. “หากขาดสิ่งนี้แล้วจิตใจของเด็กก็จะไม่ได้รับความสงบสุข” เอเดลีนเชื่อมั่นในสัจจะตรงนี้ว่า..คุณปู่ได้มอบความเชื่อมั่นอันเป็นพื้นฐานนี้แก่เธอ ในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของชีวิต...ด้วยความแน่ใจลึกๆเธอมั่นใจว่าปู่รักเธอ..เหตุนี้เธอจึงได้กล้าแสดงออกถึงว่าแท้จริงแล้ว ความคิดความอ่านของคุณปู่คือเบ้าหลอมแห่งความเป็นชีวิตที่มีค่าของเธอในวันนี้...มันคือบ่อเกิดของสิ่งที่เรียกว่า... “ความหวัง” “ยามรุ่งอรุณแห่งสหัสวรรษใหม่ ผู้คนทั่วโลกต่างกระหายใคร่รู้จัก อยากจะรู้ว่าคนจีนคือใคร สังคมจีนอยู่กันอย่างไร ...ผลที่ตามมาก็คือ...ลมตะวันตกสนใจตะวันออกมากขึ้น ประชากรโลกหนึ่งในสี่ใช้ชีวิตบนแผ่นดินจีน...ใช้ตะเกียบกินอาหารและพูดภาษาจีน ปรัชญาความเชื่อและภูมิปัญญาจีนอันเป็นผลผลิตของอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดซึ่งยังดำรงอยู่ครบถ้วนทั้งภาษาและวัฒนธรรมนั้นมีสิ่งที่น่าเรียนรู้มากมาย หนังสือเล่มนี้ บอกเล่าความคิดจีนและเหตุผลของคนจีนที่คิดและเชื่ออย่างนั้น...ฉันสอดแทรกหลายๆเรื่องราวในชีวิตตนเองเป็นภาพประกอบให้เข้าใจแนวคิดจีนที่กล่าวถึงและเล่าถึง สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากแนวคิดดังกล่าว” เอเดลีนได้เท้าความถึงปูมประวัติแห่งตัวตนของแผ่นดินถิ่นเกิด เพื่อผูกโยงให้เข้ากับปริศนาล้ำลึกของการดำรงอยู่ที่เป็นรากฐานของหนังสือเล่มนี้ บทสรุปแห่งความเป็นไปของสังคมชีวิตวันนี้ผ่านสังคมโลก นับเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นความหมายอันชวนตีความอยู่ภายใน ยิ่งวิเคราะห์ในสถานการณ์เราก็ยิ่งมองเห็น องค์รวมของสิ่งที่ถูกมองเห็นด้วยสายตาที่ไม่ถ่องแท้ของจิตใจบนรากเหง้าของความเป็นจริงที่ถูกกระทำและก่อเกิดขึ้นด้วยปมเงื่อนแห่งสัมผัสที่คลาดเคลื่อน นับจากสหภาพโซเวียตเสื่อมสลาย ทุกวันนี้สหรัฐอเมริกากลายเป็นอภิมหาผู้ครองโลกเพียงหนึ่งเดียว ด้วยอิทธิพลที่เกิดขึ้นจากลัทธิเสรีนิยม...ส่งผลให้ “จีนถึงแม้จะมีประชากรมากที่สุดในโลก แต่ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆประเทศที่แข่งขันกันเพื่อหาที่เหยียบยืน...ในระยะเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมาประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อินเดีย และ ปากีสถานล้วนเปลี่ยนผ่านสู่สังคมที่ทันสมัย โลกตะวันตกและตะวันออกได้สัมผัสกันแล้ว ทั่วโลกได้ผูกพันใกล้ชิดกันกว่าเดิม ด้วยโยงใยทางด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง การค้า และข้อมูลข่าวสาร...บัดนี้สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับอนาคตของเราทั้งมวลก็คือ..การเข้าใจรู้จักประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมของกันและกัน” แล้วอะไรเล่า..คือนัยแห่งการอธิบายถึง “เฝ้าต้นไม้ รอกระต่าย” เอเดลีนได้ให้ข้อเฉลยและอธิบายความถึงปริศนาอันซ่อนเร้นตรงส่วนนี้ผ่านประสบการณ์อันขื่นขมและตีบตันในอดีตของเธอ โดยย้อนไปเมื่อเธออายุได้สิบสาม แม่เลี้ยงของเธอได้บอกแก่เธอว่า.. ปีหน้าจะให้เธอลาออกจากโรงเรียนเพื่อออกไปทำงาน เพราะคุณพ่อส่งเธอเรียนต่อไม่ไหวแล้ว..ในตอนนั้นเธอรู้สึกผิดหวัง จนต้องปรึกษาคุณปู่และคิดจะหนีไปอยู่กับคุณป้าที่เซี่ยงไฮ้...เธอถามคุณปู่ว่าจะให้เธอยืมเงินเพื่อเป็นค่าเดินทางไหม..คุณปู่ก็เลยย้อนถามเธอว่าจะไปทำอะไรที่นั่น..เธอตอบคุณปู่ไปว่าจะกลับไปโรงเรียนเก่า เพราะคิดถึงเพื่อนๆที่นั่นมาก อีกทั้ง “ตอนที่หนูย้ายมาจากที่นั่นหนูเพิ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าชั้น.... ปู่ว่ากลับไปพวกเขายังจะเลือกหนูเป็นหัวหน้าชั้นอีกไหมคะ?”... คุณปู่จึงให้แง่คิดแก่เธอว่า.. “หลานคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เซี่ยงไฮ้จะยังเหมือนตอนที่จากมาไม่ผิดอย่างนั้นสิ ช่างไม่ประสาเสียเลย หลานลืมอีกแล้วใช่ไหมว่า...ตำราอี้จิงสอนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าอย่างไร?..มีเป็นไม่มี...ไม่มีเป็นมี...มันคือวิถีที่นำไปสู่ความสมดุล” “เฝ้าต้นไม้รอกระต่าย”แปลเป็นภาษาไทยอย่างลุ่มลึกและชวนใคร่ครวญโดย “นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี” ถือเป็นหนังสือแห่งคุณค่าของการผูกรั้งชีวิต ให้เข้าใจถึงหัวใจแห่งความเป็นไปของจิตวิญญาณ ท่ามกลางกระแสสังคมที่พลิกผันยุ่งยาก ข่มเหงและโบยตีชีวิตอย่างเหนือคาดคิด ณ วันนี้ ความเกี่ยวพันระหว่างบริบทของสังคมจีนอันซับซ้อนและถือตัวทางด้านจารีตนิยมอย่างดำดิ่งมีส่วน กัดกินชีวิตของคนผู้ใดผู้หนึ่งเสมอในฐานะเหยื่อของชะตากรรมอันติดกับอยู่กับความลุ่มหลง.... การพลิกฟื้นตัวเองสู่การเรียนรู้โครงสร้างของสังคมที่เป็นหลืบชั้นให้กลายเป็นความกระจ่างต่อผัสสะ ตลอดจนเจตจำนงแห่งการวิพากษ์รูปรอยปะทะของสังคมอย่างเปิดเปลือยด้วยทรรศนะที่ตรงไปตรงมา... ทำให้หนังสือเล่มนี้ โลดทะยานสู่ความทายท้าต่อการรับรู้และเรียนรู้อย่างยิ่ง มันคือบันทึกแห่งบทวิพากษ์ที่ไม่ยอมจำนน และสลัดหลุดจากบ่วงแร้วของภยาคตินานาที่ครอบงำเสรีแห่งชีวิตของผู้คนในทุกวันนี้ ให้ได้หยั่งเห็นถึงความหมายอันจริงแท้แห่งความเป็นตัวตนที่สมควรจะเป็น และดำรงคงอยู่เพื่อที่จะฉายภาพอันควรมีควรอยู่ในโลกนี้ได้อย่างถ่องแท้...สืบไป “จักต้องมีใครสักคนที่ใส่ใจ...หากขาดสิ่งนี้แล้วจิตใจของเด็กก็จะไม่ได้รับความสุข”