เล่าความหลังสยามรัฐ / ทองแถม นาถจำนง: (1) กองบรรณาธิการ “สยามรัฐ” ตกลงใจให้ผมเขียนบทความเรื่องราวของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” และ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” สัปดาห์ละเรื่อง ผมตกลงรับปาก ทั้งๆ ที่ไม่แน่ใจนักว่าเหมาะสม เพราะจริงๆ แล้ว ผมยังนับว่าอาวุโสน้อยในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผมเพิ่งเริ่มทำงานใน “สยามรัฐ” เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยการเชิญชวนของคุณ “อัศศิริ ธรรมโชติ” ผู้ได้รับแต่งตั้งจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐให้เป็นบรรณาธิการ ผมเริ่มงานในหน้าที่ “บรรณาธิการบทความ” ดูแลคัดเลือกบทความตีพิมพ์ในสยามรัฐ และดูแลรับผิดชอบการตีพิมพ์บทความรายวันของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งงานหลังนี้เป็นงานหนักความรับผิดชอบสูง ขณะนั้น อาจารย์หม่อมสายตาไม่ค่อยดี ท่านเขียนหนังสือโดยการพูด ต้องมีเลขานุการส่วนตัว อ่านตรวจทานบทความเพื่อความถูกต้อง ถ้างานอ่านตรวจทานบกพร่องไม่สมบูรณ์ บทความตีพิมพ์ผิดพลาด เรื่องบกพร่องก็จะมาตกที่กองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโตได้ งานส่วนนี้จึงสำคัญมาก ผิดพลาดบกพร่องไม่ได้แม้แต่น้อย เหตุด้วยงานนี้ ผมจึงจำเป็นต้องมีหนังสือคู่มืออันเป็นเรื่องสำคัญจำนวนมาก เช่น หนังสือพระนามของอดีตเจ้านายซึ่งเป็นหนังสือเก่าแก่ของบิดาผมสะสมไว้ พระนามเก่าๆ ของเจ้านายบางพระองค์นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ลืมหรือสะกดผิดพลาด ผมจำเป็นต้องตรวจสอบให้ดี อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่อง “คำบาลี” ซึ่งท่านย้ำเตือนเสมอว่าหากมีความเคลือบแคลงสงสัยคำศัพท์บาลีให้สอบถามท่าน “คามหุโณ” - เปรียญ 8 เพื่อความถูกต้องทุกครั้ง แม้จะตั้งใจดีอย่างไร ความผิดพลาดก็ต้องมีเป็นธรรมดา ช่วงนั้นอาจารย์หม่อมชอบไปอยู่เชียงใหม่ บางวันการติดต่อประสานงานระหว่างกอง บก.กับเลขานุการส่วนตัวของอาจารย์หม่อม ถ้าขลุกขลักก็อาจเกิดปัญหาผิดพลาด แล้วทำให้บทความมีข้อผิดพลาด มีเรื่องเกิดขึ้นครั้งสองครั้ง ซึ่งผมก็เข้าไป “บ้านสวนพลู” ชี้แจงปัญหาอาจารย์ทราบด้วยตนเอง ซึ่งแทนที่ผมจะถูกดุถูกวิจารณ์ อาจารย์กลับหาข้อดีมากล่าวชมผม การถูกเรียกเข้าบ้านสวนพลูจึงแทนที่จะเดือดร้อน มันกลับกลายเป็นเรื่องดีต่อผมเสมอ ผมมีโอกาสได้พบปะสนทนาใกล้ชิดกับอาจารย์หม่อมเพียงไม่กี่ครั้ง ได้พบที่บ้านสวน พลูสองสามครั้ง สมัยเรียนปีหนึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยขึ้นไปเที่ยวนอนค้างที่บ้านดอยขุนตานหนึ่งครั้ง ส่วนที่บ้านแม่ริมไม่เคยเข้าไป ได้แค่นั่งกินอาหารที่ร้านตรง ข้ามฝั่งแม่น้ำ แต่ผมก็มีความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งตั้งแต่วัยหนุ่มน้อยว่าต้องเติบโตเป็นนักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียง และกลุ่มนักเขียนที่ผมชื่นชอบก็คือกลุ่มสยามรัฐ ในวัยเด็กหนังสือคึกฤทธิ์คือหนังสือยอดนิยมของผม และนิตยสารประจำใจของผมก็คือ “ชาวกรุง” บิดาผมทำงานที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาล และผมมักจะไปเที่ยวเล่นที่นั่น(รวมทั้งสยามรัฐ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม)ในวันเสาร์-อาทิตย์ และตอนเย็นหลังจากเลิกเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ “สยามรัฐ” จึงเป็นความใฝ่ฝันใฝ่ถึงของผมตลอดมา ผมจึงไม่ลังเลเลย เมื่อได้คำเชิญชวนจากคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ให้มาทำงานที่สยามรัฐ พูดถึงคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ท่านเป็นพี่ชายที่รักและสนับสนุนผมมาก เราร่วมงานใกล้ชิดกันสามปี พอ พ.ศ. 2538 “สยามรัฐ” เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ มีนายทุนใหม่มาซื้อสยามรัฐจาก ม.ล. รองฤทธิ์ ปราโมช เผชิญมรสุมมากมาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์สยามรัฐให้คุณชัชวาลล์ คงอุดม ตำแหน่งบรรณาธิการสยามรัฐยังเป็นของคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ซึ่งท่านก็ยังรักและไว้วางใจผมเหมือนเดิม เปรียบเสมือนเป็นเบอร์สองรองจากท่าน ช่วงนั้นบรรณาธิการต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยมาก คุณอัศศิริ ธรรมโชติ คงเบื่อหน่ายงานส่วนนี้ ท่านมีใจคิดลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการอยู่เสมอ กระทั่งมีโอกาสเมื่อพี่ชัชวาลล์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นวุฒิสมาชิก กทม. และให้ภริยาของท่านมาดูแลสยามรัฐแทนคุณอัศศิริ ถือโอกาสขอลาออก ซึ่งคุณชัชวาลล์อนุญาตแต่มีข้อแม้ว่า คนที่จะเป็นบรรณาธิการต่อต้องคือผม เพราะท่านเชื่อมั่นและไว้วางใจผม พ.ศ. 2543คุณอัศศิริ ธรรมโชติ พ้นจากแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ และผมได้รับตำแหน่งต่อมา