กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งขับเคลื่อนแผนบิ๊กร็อกที่ 1 ป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจน รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 ที่ส่งผลให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 64 ได้ช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 1.244 ล้านคน ผ่าน “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค)” และพบว่ากลุ่มที่เคยขาดเรียนมีอัตราการขาดเรียนลดลง นักเรียนทุนเสมอภาคร้อยละ 95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา นอกจากนี้ ผลสำรวจของ กสศ. ยังพบว่าลักษณะความช่วยเหลือที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องการได้รับมากที่สุดร้อยละ 71 คือค่าครองชีพ/ของใช้จำเป็น คาดว่าในอนาคตจะขยายกลุ่มเป้าหมายช่วยเหลือไปยังระดับชั้นอนุบาลและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เกิดกับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัยอย่างเท่าเทียมกัน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาไทยในปัจจุบัน เนื่องจากการที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เท่ากับประเทศจะสูญเสียโอกาสในการผลิตบุคลากรคุณภาพในอนาคต รวมทั้งทำให้เด็กและเยาวชนอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศสูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังนั้น การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเกิดหรือใช้ชีวิตอยู่ตรงส่วนใดก็ตามของประเทศไทย จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปบิ๊กร็อกที่ 1 การป้องกันเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ที่กำลังเร่งดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รศ.ดร.วรากรณ์ ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ความยากจนถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบ จึงเป็นที่มาของโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข หรือ “ทุนเสมอภาค” ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่เน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มประชากรเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษา และมีโอกาสที่จะได้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะต่อไปได้ โดย “ทุนเสมอภาค” เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข นักเรียนที่ได้รับการจัดสรรเงินต้องรักษาอัตราการมาเรียนให้สูงกว่าร้อยละ 80- 85 ของเวลาเรียน และมีการติดตามข้อมูลพัฒนาการให้สมวัยตามเกณฑ์ของกรมอนามัย สอดคล้องกับตัวชี้วัดของกิจกรรมปฏิรูปฯ ด้านการศึกษาบิ๊กร็อกที่ 1 อันประกอบด้วย 1.อัตราการเข้าเรียนสุทธิ (Net Enrollment Ratio) 2.สัดส่วนประชากรนอกระบบการศึกษาวัยเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ ไม่เกินร้อยละ 5 และ 3.สัดส่วนผู้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาที่มีทักษะอ่านออกเขียนได้และคณิตศาสตร์ที่จำเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2564 กสศ. ได้ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายแล้ว 1.244 ล้านคน ผ่านทุนเสมอภาคในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา โดยผลประเมินขั้นต้นพบว่า กลุ่มที่เคยขาดเรียนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วัน ขาดเรียนลดลงเหลือสัปดาห์ละครึ่งวัน และในปีการศึกษา 2563 – 2564 นักเรียนทุนเสมอภาคกว่าร้อยละ 95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง และทำให้จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 นอกจากนี้ ผลสำรวจของ กสศ. ยังพบว่าลักษณะความช่วยเหลือที่นักเรียนและผู้ปกครองต้องการได้รับมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับหนึ่งร้อยละ 71 คือค่าครองชีพ/ของใช้จำเป็น อันดับสองร้อยละ 35 ค่าอาหารเช้า/อาหารกลางวัน และอันดับสามร้อยละ 29 ค่าเดินทาง อย่างไรก็ตาม ผลตอบรับจากผู้ปกครองของนักเรียนทุนเสมอภาคชี้ให้เห็นว่าได้รับการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในช่วงเปิดเทอมได้เป็นอย่างมาก รวมทั้ง ตระหนักถึงความพยายามในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสของภาครัฐ ดร.ไกรยส “ปัจจุบันเงินทุนเสมอภาคและเงินทุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ครอบคลุมระดับชั้นประถมศึกษา - มัธยมศึกษาตอนต้นเป็นหลัก กสศ. จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายถึงภาครัฐในการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังระดับชั้นอนุบาล เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้เข้าเรียนทันเวลาเพื่อพัฒนาการที่สมวัย และกระตุ้นให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานเข้าเรียน อีกกลุ่มคือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เนื่องจากพบว่าเป็นวัยที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนให้สอดคล้องกับระดับการศึกษาและค่าครองชีพในปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขอัตราการมาเรียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 - 85 เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการขยายกลุ่มเป้าหมายจะนำไปสู่การช่วยให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาที่เหมาะสมตามช่วงวัย หรือกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายด้านการศึกษามีประสิทธิภาพคุ้มค่าสูงสุด ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา แต่ยังเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในด้านการแก้ไขความยากจนข้ามชั่วคนของประเทศอีกด้วย” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22