เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศทั่วจังหวัดเชียงรายตลอดทั้งวันพบว่ามีเมฆหนาและมืดครึมรวมทั้งมีฝนตกลงหนักในบางพื้นที่ และมีลมพัดแรง ทำให้เมื่อช่วงเช้าได้มีต้นไม้ใหญ่ บริเวณถนนวินิจฉัยกุล ซึ่งตั้งอยู่ติดกับค่ายเม็งรายมหาราช ประตู 5 และชุมชนดองทอง ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย ล้มลงขวางถนน โดยต้นไม้ขนาดใหญ่ ล้มไปทับรั้วของค่ายทหารจนได้รับความเสียหาย เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าที่ตั้งขนานไปกับถนนได้รับความเสียหายส่งผลทำให้ชุมชนบริเวณใกล้เคียงไม่สามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ในช่วงเวลาดังกล่าว หลังเกิดเหตุเทศบาลนครเชียงรายได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำการตัดต้นไม้กิ่งไม้ออกจากผิวจราจรและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนแล้ว และในวันเดียวกันได้เกิดฟ้าผ่าบริเวณเจดีย์หรือพระธาตุภายในวัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) ชุมชนวัดเจ็ดยอด เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย โดยพระธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถ และฟ้าได้ผ่าลงเกือบตรงกลางด้านที่หันไปทางพระอุโบสถ สูงจากพื้นประมาณ 2-3 เมตร ทำให้ผิวด้านนอกของชั้นเจดีย์ที่สร้างเป็นชั้นๆ ในชั้นที่ 1-5 ซึ่งเป็นคอนกรีตและทาด้วยสีขาวแตกกระเทาะออกมาจนเห็นอิฐด้านในแต่ยังไม่ทำลายโครงสร้างในภาพรวมทำให้เจดีย์ยังคงอยู่ในรูปทรงปกติ ขณะที่ตามพื้นด้านล่างมีเศษของเจดีย์ตกกระจายอยู่ทั่วไป หลังเกิดเหตุทางพระครูปริยัติโกวิท เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ได้ตรวจสอบไม่พบผู้ใดได้รับอันตรายและไม่มีความเสียหายเพิ่มเติม โดย พระครูปริยัติโกวิท เปิดเผยว่า ในเวลาประมาณ 08.20 น.ได้มีเสียงดังขึ้น 1 ครั้ง อย่างผิดปกติโดยเป็นเสียงสายฟ้าโดยมีแสงไฟวาบ ต่อมามีคนมาแจ้งว่าพระธาตุถูกฟ้าผ่า โดยมีเศษอิฐปูนตกลงมาไกลถึง 100 เมตร ไม่ทีใครได้รับบาดเจ็บ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าพระธาตุมาก่อน แต่เคยผ่าต้นไม้ที่อยู่ใกล้กันเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน "คงแจ้งเจ้าคณะ อ.เมืองเชียงราย เจ้าคณะ จ.เชียงราย และสำนักพระพุทธศาสนา จ.เชียงราย รวมทั้งแจ้งญาติโยมเพื่อการบูรณะตามขั้นตอนต่อไป เพราะพระธาตุนี้ถือว่ามีความสำคัญเนื่องจากมีความเป็นมายาวนานมากกว่า 700-1,000 ปี หรือก่อนยุคที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชจะมาสร้างเมืองเชียงรายเสียอีก เพราะเดิมก็มีพระธาตุองค์เดิมอยู่ก่อนแล้วทำให้พ่อขุนเม็งรายมหาราชทรงสร้างวัดอื่นๆ ภายในตัวเมืองและต่อมามีการสร้างพระธาตุครอบองค์เดิมกระทั่งปัจจุบัน" พระครูปริยัติโกวิท กล่าว.