นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยอมรับว่าในขณะนี้ราคาสูงเกินคาดการณ์ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 ปัญหาความไม่สงบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัญหายูเครน และล่าสุดตุรกีระงับการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งที่เชื่อมต่อระหว่างตุรกีและอิรัก จากเหตุระเบิดที่ระบบการขนส่ง ยิ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อดูแลราคาดีเซลในไทยไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มากกว่าคาดการณ์เดิม และกองทุนฯต้องดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อุดหนุนที่ 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ล่าสุดกองทุนติดลบแล้ว 8,700 ล้านบาท เรียกได้ว่ากองทุนฯ แบกรับภาระไม่ไหว กระทรวงพลังงานจึงเริ่มหารือกับกระทรวงการคลังอีกรอบ เพื่อขอพิจารณาลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยก่อนหน้านี้เคยเสนอลดภาษี 1-2 บาท/ลิตร แต่กระทรวงการคลังได้ปฏิเสธการลดภาษี ทั้งนี้กระทรวงพลังงานประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 87.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่จะดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะนี้ราคาใกล้เคียงแล้ว แต่มีปัญหาอื่นเข้ามา ทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินคาดการณ์ ราคาไบโอดีเซล บี 100 ที่ทะลุ 60 บาท/ลิตร และการใช้ดีเซลของไทยที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเดือนธันวาคม 2564 แตะ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนอยู่ที่ 52.8 และ 65.2 ล้านลิตร/วัน ล่าสุดวันที่ 19 มกราคม 2565 ราคาดีเซลในเขต กทม.-ปริมณฑล อยู่ที่ 29.84 บาท/ลิตร โดยกองทุนน้ำมันอุดหนุน 2.49 บาท/ลิตร และภาษีสรรพสามิตจัดเก็บที่ 5.99 บาท/ลิตร ทั้งนี้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด 16 มกราคม 2565 ติดลบ 8,782 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 15,340 ล้านบาท และเงินบัญชีแอลพีจีติดลบ 24,122 ล้านบาท โดยจากผลกระทบต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไหลออกต่อเดือนกว่า 4,600 ล้านบาท