ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการจัดเสวนาเรื่องทิศทางการเรียน – การสอนวิศวกรรมในประเทศไทยและการปรับตัวของภาคเอกชน จากสถานการณ์ COVID-19 ผ่านมุมมองของรองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ อาจารย์ ดร.ชนะชัย ทองโฉม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร​ อาจารย์ ดร.เวโรนิก้า วิโนโต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี​ อาจารย์ ดร.ภีม เหนือคลอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่เริ่มระบาดไปทั่วโลกมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันนั้น ได้ส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตประจำวัน รวมถึงการประกอบกิจกรรมทางภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแทบทุกชนิดทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบเป็นระยะเวลายาว ในส่วนของการศึกษาเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในประเทศไทยและทั่วโลกเมื่อต้นปี 2563 ภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนออนไลน์ก็เริ่มเด่นชัดขึ้นมาในสังคมการศึกษาในทุกภูมิภาคของโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่สถานศึกษาทุกแห่ง ได้ปรับตัวไปใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังกล่าว การเรียนการสอนออนไลน์นั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญและสามารถทำให้กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่สามารถเจอกันได้ตามปกติ ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำทีมคณาจารย์รุ่นใหม่ของคณะฯ มาเล่าถึงประสบการณ์การสอนออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านนั้นว่า ในช่วงแรกที่มีการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์นั้นถือว่ารวดเร็วและกะทันหันมาก โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่คอย support ระบบ IT และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยเรามีความพร้อมสูงที่สามารถปรับมาเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ได้ภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากที่ได้ทำการสอนแบบออนไลน์มาเกือบ 2 ปี แล้ว โดยอาจารย์ในคณะมีเทคนิคการสอน ที่หลายหลาย มีทั้งการใช้ PowerPoint ประกอบ เขียนผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น Ipad หรือ คอมพิวเตอร์ หรือมีการอัดคลิป VDO ให้นักศึกษาศึกษาก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าใจไปพร้อมกันได้มากขึ้น ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นปัญหาหลักที่ผู้สอนพบ คือ ในส่วนการสื่อสารของผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งในขณะที่มีการเรียนแบบออนไลน์นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่จะปิดกล้อง ทำให้อาจารย์ไม่สามารถเห็น reaction ของผู้เรียนได้ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ การสื่อสารผ่าน body language หายไป ตรงนี้เกิดขึ้นในทุกชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนก็พยายามหาวิธีจูงใจให้นักศึกษาเปิดกล้องมาพบหน้ากันมาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเช็คชื่อในชั้นเรียน การทำ quiz หรือ พิมพ์ผ่านทางแชท เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนได้เรียนในห้องเรียนที่ผู้สอนและผู้เรียนได้เจอกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะใช้พลังงานในการสอนออนไลน์มากกว่าการสอนในห้องเรียน เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้บรรยายตลอดซึ่งต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนจริง เพราะต้องการให้นักศึกษาได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ ส่วนในอนาคตนั้น การกลับมาเรียน On-site อย่างเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยังไม่สามารถบอกได้เนื่องจากสถานการณ์ของ COVID – 19 นั้น เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของคณะฯ นั้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของนักศึกษาเป็นอันดับแรก แต่จากระยะเวลาสองปีที่ได้เรียนออนไลน์กันมานั้น เชื่อมั่นว่าเด็กยุคใหม่คุ้นเคยกับการเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วแน่นอน ดังนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างมากว่าการเรียนการสอนในอนาคตจะพัฒนาเป็นแบบ Hybrid โดยผู้เรียนสามารถเรียนและหาความรู้ด้วยตัวเองนอกห้องเรียนได้ โดยอาจารย์ทำหน้าที่เป็น consult คอยชี้แนะนักศึกษาให้มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามเนื้อหาของวิชานั้น ๆ ในส่วนของการเรียนนั้นผู้สอนอาจประยุกต์เป็นการทำ Clip VDO เพื่อให้นักศึกษาสามารถศึกษาเองได้ ซึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกหลายๆแห่งก็ได้เริ่มทำกันแล้ว และเปิดเป็น Open Source อีกด้วย ต่อไปการเรียนที่ไม่จำกัดในห้องเรียนเราจะเห็นกันมากขึ้น ทั้งนี้ตัวผู้เรียนก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ให้ได้ดังเป้าหมายที่ตั้งไว้เนื่องจากการเรียนนอกห้องเรียนนั้นมีอิสระเต็มที่ ในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าชั่วโมงการเรียนในชั้นเรียนนั้นอาจน้อยลง แต่ไปเพิ่มเวลาหาความรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ความรับผิดชอบของผู้เรียนก็ต้องมากขึ้นเช่นเดียวกัน บางท่านอาจมีคำถามว่าเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แล้วนั้น การวัดผลยังจำเป็นอยู่ไหม จริงๆแล้วการวัดผลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในวิชาและบทเรียนนั้น ๆ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากแค่นไหน เพียงแต่สัดส่วนในการประเมินแบบ Paper อาจจะมีสัดส่วนน้อยลง แต่ในบางวิชายังจำเป็นอยู่ เช่นวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณ ในส่วนการประเมินผลการเข้าใจนั้นผู้สอนอาจใช้เทคนิคอื่นในการประเมินผู้เรียนได้ เช่น การให้งานกลุ่มเป็นโครงงานขนาดย่อม หรือการสอบแบบ Oral Presentation ทั้งนี้การให้งานกลุ่มผู้สอนอาจต้องมี trick ในการ motivate ผู้เรียนให้มีการกระจายงานกันทำทั้งกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจในบทเรียนกันทั่วทุกคน เมื่อมองออกจากในส่วนของห้องเรียนออกไปยังภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่จะเป็นพื้นที่ในการประกอบอาชีพของบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่อไปนั้น ทางคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นผู้ประกอบการล้วนแต่ต้องปรับตัวในการลดต้นทุนเพื่อให้อยู่รอดมากขึ้น เนื่องจากการขึ้นราคานั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งสิ่งที่จะมามีบทบาทในการลดต้นทุนอย่างมากคือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้าน AI Software หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตที่สามารถลดจำนวนคนลงได้ หรือทำให้ระบบการบริหารจัดการรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนทางด้านบุคลากรและเวลา อีกสิ่งนึงที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่อง carbon credit ซึ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ และพืชหลากหลายชนิด ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการประเมินปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรม หรือกระบวนการผลิตในภาคการเกษตร หรือ อุตสาหกรรมก็จะเป็นแนวทางที่จำเป็นและสำคัญในอนาคต การประเมิน Carbon footprint ของแต่ละผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนถึงการได้ผลิตภัณฑ์ ก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก การตั้งกำแพงภาษี Carbon credit ในสหภาพยุโรป หรือ ประเทศอื่น ๆ ในอนาคต ก็จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย สุดท้ายการทำ Carbon trading ภายในประเทศ โดยเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตสินค้าหรือดำเนินกิจกรรมที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนสูงกับผู้ที่ดำเนินกิจกรรมในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่า การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เกษตรกรรมหลาย ๆ ประเภทที่เน้นการประหยัดพลังงานหรือดูดซับปริมาณสารประกอบคาร์บอนในอากาศ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการอาจจะต้องเริ่มคิด และวางแผนในเรื่องของ Carbon credit ซึ่งจะช่วยทั้งการส่งออกและลดต้นทุนได้ในอนาคต