องค์หลวงพ่อโสธรเริ่มแตกร้าว หลังเพิ่งบูรณะเปิดพระอุโบสถหลังใหม่มาได้เพียง 15 ปี ด้านกรมศิลป์รับใช้วัสดุสมัยใหม่พอกทาสีที่ไม่ประสานยึดแน่นเข้ากันกับเนื้อในวัสดุดั้งเดิม ประกอบความชื้นเข้าแทรกตามรอยประสานใหม่ พร้อมเตรียมจัดทำแผนปรับปรุงเป็นแบบการลงรักปิดทองทั้งองค์เพื่อแก้ไขปัญหา วันที่ 19 ม.ค.65 เวลา 12.32 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ทำการเผยแพร่ภาพข่าวสารเกี่ยวกับกรณี พบรอยร้าวแตกกร่อนบนองค์พระหลวงพ่อโสธรองค์จริง และพระพุทธรูปหมู่ 18 พระองค์บางองค์ ภายในพระอุโบสถหลังใหม่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงค่ำวานนี้ ทั้งนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ส่งนายช่างศิลปกรรมอาวุโสและวิศวกรสำนักสถาปัตยกรรม เดินทางเข้ามาสำรวจองค์พระในเบื้องต้น และพบว่าที่องค์หลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูปหมู่บางพระองค์มีรอยกะเทาะแตกร้าวออกมา โดยได้มีการสันนิษฐานว่า เกิดจากการเสื่อมสภาพของสีที่พอกทาอยู่ภายนอกด้วยวัสดุสมัยใหม่ ที่ไม่ประสานเข้ากันกับเนื้อวัสดุดั้งเดิม จึงทำให้มีการแตกร่อนหลุดออกมา นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอาจจะมีปัญหาในส่วนของความชื้นภายในร่วมด้วย สำหรับแนวทางการปรับปรุงแก้ไขนั้น ทาง ดร.วีระชัย ตนานนท์ชัย ไวยาวัจกร วัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้ระบุผ่านทางสำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ทางสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้เตรียมแนวทางในการปรับปรุงองค์พระหลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูปหมู่พระองค์อื่นๆ ที่แตกร้าว ด้วยการจะทำเป็นลักษณะของการลงรักปิดทองคำเปลวทั่วทั้งองค์ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความชื้นที่เข้ามาแทรกในเนื้อ ระหว่างรอยประสานของวัสดุเก่าและรอยพอกใหม่ พร้อมยังบอกด้วยว่า เป็นเพียงการแตกกร่อนเฉพาะส่วนที่เป็นเปลือกนอกเท่านั้น หากทางสำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงแล้วเสร็จ ทางวัดโสธรจะได้เร่งดำเนินการปรับปรุงขึ้นใหม่ได้ภายใน 15 วัน ดร.วีระชัย ชี้แจงผ่านทางสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด โดย หลวงพ่อโสธรนั้น เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาว จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นที่เคารพศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ปางสมาธิ มีความสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว หน้าตักกว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว ซึ่งปัจจุบันมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อครั้งแต่โบราณเป็นอย่างมาก หลังจากที่ได้มีการปิดพระอุโบสถเดิมหลังเก่าเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2531) และมีการใช้เทคนิคทางวิศกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์พระหลวงพ่อโสธร และพระพุทธรูปหมู่ทั้ง 18 พระองค์ไปจากจุดเดิมที่เคยตั้งประดิษฐานไว้ อีกทั้งเพื่อทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ จึงทำให้การก่อสร้างเมื่อครั้งนั้นได้ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างอย่างยาวนานถึง 18 ปี จนกระทั่งแล้วเสร็จสามารถเปิดใช้งานได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2549 แต่ปรากฎว่า พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ได้เดินทางเข้ามาพบเห็น รวมถึงประชาชนทั่วไปใน จ.ฉะเชิงเทรา ต่างพากันเคลือบแคลงสงสัยกันไปต่างๆ นาๆว่า เหตุใดรูปลักษณ์ขององค์หลวงพ่อโสธรจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยที่ไม่ได้มีคำชี้แจงใดๆ ออกมาจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานแม้แต่ทางจังหวัด รวมถึงทางวัดโสธรเอง ให้แก่ทางพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้รับทราบโดยทั่วกัน ถึงสาเหตุของรูปโฉมลักษณะขององค์หลวงพ่อโสธรที่ผิดไปจากเมื่อช่วงก่อนหน้าการปิดพระอุโบสถ แต่หลังเวลาผ่านไปกว่า 10 ปี จึงเริ่มมีข้อมูลบางส่วนที่เผยแพร่ออกมาในภายหลัง ผ่านทางสื่อโซเชียลอย่างไม่เป็นทางการว่า เมื่อช่วงระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ในครั้งนั้น ทางกรมศิลปากรได้ทำการกะเทาะปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อโสธรเดิมเอาไว้ออก จนพบว่าหลวงพ่อโสธรภายในนั้นเป็นพระพุทธรูปหินทราย และเป็นศิลปะเมื่อครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น ก่อนที่จะถูกพอกด้วยวัสดุสมัยใหม่หุ้มไว้ จนเกิดปัญหาการแตกร้าวขึ้นในปัจจุบัน ทั้งที่พระอุโบสถหลังใหม่นั้น เพิ่งจะถูกเปิดใช้งานมาได้เพียง 15 ปี เท่านั้น