กรมส่งเสริมการเกษตรจับมือจังหวัดสุพรรณบุรี รณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายเกษตรกร ปลอดการเผา ลดพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน (Hotspot) ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชูชีพ พงษ์ไชย รอง ผวจ.สุพรรณบุรี นายกิติพงษ์ แย้มมี นายอำเภอดอนเจดีย์ นางธัญธิตา บุญญมณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นายอำนาจ โสรถาวร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นายวสันต์ จี้ปูคำ หัวหน้ากลุ่มงานอารักขาพืชสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกันเปิดงานการจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2565 ณ แปลงนายกำพล ทองโสภา ประธานแปลงใหญ่ข้าวอำเภอดอนเจดีย์ หมู่ที่ 6 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีบุคคลเป้าหมาย รวมทั้งสิ้น 200 คน โดยได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากเกษตรกร หน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งการเผาในพื้นที่การเกษตรก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบมากมาย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างมาก สำหรับจังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด จำนวน 1,938,212 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 1,162,707 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 59.99 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 510,971 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 26.36 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด เพื่อเร่งการผลิตพืชให้ได้หลายรอบต่อปี และขาดการจัดการที่ดี ทำให้เกษตรกรเลือกใช้วิธีการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวแทนวิธีการอื่น ๆ ภาพรวมจุด Hotspot ในพื้นที่การเกษตร ปี 2564 จังหวัดสุพรรณบุรีมีจุด hotspot ในพื้นที่การเกษตร จำนวน 96 จุด สูงสุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคตะวันตก ในการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2565 ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี จึงได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จัดงานรณรงค์ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ภาคตะวันตก ปี 2564/2565 ขึ้น ณ แปลงนายกำพล ทองโสภา ประธานแปลงใหญ่ข้าวตำบลดอนเจดีย์ หมู่ที่6 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกิดทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา โดยภายในงานยังมีการแสดงนิทรรศการและบูธจำหน่ายสินค้าการเกษตรการใช้เครื่องตัดตอซัง การสาธิตการหว่านปอเทือง การไถกลบตอซังฟางข้าว และการสาธิตเทคโนโลยีการจัดการ เศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาอีกด้วย ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อให้เกษตรกรได้มองเห็นทางเลือกการใช้ประโยชน์ จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผาในด้านต่างๆ ประกอบด้วย กิจกรรมสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย การใช้รถตัดตอซังข้าว การทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว กิจกรรมการถ่ายองค์ความรู้ ผ่านสถานีถ่ายทอดความรู้ คือการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำเสนอการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายเศษฟางข้าว และเทคโนโลยี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา นำเสนอเทคโนโลยีสำคัญ คือ การปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยสั่งตัดที่เหมาะสมกับสภาพดินที่ใช้เพาะปลูก และการแปรรูปตอซังให้เป็นผลผลิตอื่นทดแทนการเผา ทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา นำเสนอเทคโนโลยีการเตรียมดินและปรับพื้นที่ในแปลงเกษตร และสาธิตการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ และ นิทรรศการที่น่าสนใจการจากหน่วยงานภาคีและเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน