ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้ประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น ภาคเหนือ มีทรัพยากรป่าไม้ที่คงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าสักนวมินทรราชินี” (ป่า-สัก-นะ-วะ-มิน-ทะ-ระ-รา-ชิ-นี) ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจพบเมื่อปี 2552 มีต้นสักธรรมชาติขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ทั่วบนเนื้อที่กว่า 30,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย และอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีต้นสักขนาดใหญ่ลำต้นตรง ที่บางต้นมีอายุตั้งแต่ 50 ปีถึง 300 ปี เมื่อปี 2553 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ภายใต้ชื่อ “โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สัก” ต่อมาพระราชทานชื่อป่าแห่งนี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” และมีพระราชเสาวนีย์ให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อนุรักษ์และฟื้นฟูไว้ เพื่อเป็นแหล่งพันธุกรรมไม้สักและพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาอาชีพของราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน นับแต่นั้นเป็นต้นมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้กำหนดพื้นที่ป่าสักธรรมชาติแห่งนี้ให้เป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และจัดเจ้าหน้าที่ทำการลาดตระเวน ดูแลรักษาบริเวณโดยรอบพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทำการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้แจกให้ประชาชนนำไปปลูกเสริมอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับราษฎร โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สนับสนุนงบประมาณต่อยอด ในการส่งเสริมอาชีพอย่างต่อเนื่อง
ผลการติดตามของ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ และรองเลขาธิการ กปร. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 นั้นได้เชิญถุงพระราชทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดสิ่งของจำเป็นเพื่อมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งเสื้อกันหนาวไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการ เพื่อบรรเทาความหนาวเย็น ได้แก่โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่บ้านมะโนรา หน่วยปฏิบัติการพื้นที่บ้านนาอ่อน และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่บ้านห้วยซลอบ ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างหาที่สุดมิได้
ผลความก้าวหน้าการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากโครงการฯ ในการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกข้าวไร่ บริโภคในครัวเรือน และปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่กระเทียม ข้าวโพดอาหารสัตว์ ไม้ผลปลูกอาโวคาโด และทอผ้าพื้นเมืองกะเหรี่ยง ปะกาเกอญอ (กลุ่มบ้านมะโนรา) ได้พัฒนารูปแบบการให้สีสวยงาม ทั้งเสื้อชนเผ่า กางเกง ย่าม ผ้าพันคอ จำหน่ายให้นักท่องเที่ยว แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย และหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ทำให้ราษฎรมีรายได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สนองพระราชดำริ เข้าไปทำการวิจัยทดลอง การแปรรูปชาดอกกุหลาบ ดอกดาวเรือง เพื่อส่งเสริมให้ราษฎร เพื่อเป็นรายได้ในระยะต่อไป
จากแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานไว้นั้น ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ปวงพสกนิกรมากมาย ไม่เพียงแต่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของราษฎรเท่านั้น ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติของ “ป่าสักนวมินทรราชินี” ส่งผลให้ลำน้ำต่างๆ หลายสายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีน้ำไหลตลอด ณ ปัจจุบัน ป่าสักนวมินทรราชินี จะยังคงเป็นผืนป่าที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของชายแดนไทย และชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ เขตป่าอนุรักษ์ สามารถดำรงชีพอย่างถูกวิธีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีจิตสำนึกการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.