สาธารณรัฐเกาหลี หรือประเทศเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมายาวนาน ทั้งความร่วมมือต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับในทางการทูตสาธารณรัฐเกาหลียังถือว่าประเทศไทยเป็นพันธมิตรอันมีค่า เนื่องมาจากการตัดสินใจส่งกองกำลังทหารเข้าร่วมรบสงครามเกาหลี ในปี พ.ศ.2493 ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ตอบรับคำร้องขอของสหประชาชาติ สงครามเกาหลี ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกาหลีเหนือได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาหลีใต้ ในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2493 รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ส่งกองกำลังรบทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ เดินทางไปร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติ ณ ประเทศเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่ทหารไทยมีผลงานในการรบโดดเด่น เช่นการรบที่กรุงเปียงยาง และการรบที่เมือง Uijongbu (อึยจองบู) แต่วีรกรรมที่สร้างชื่อให้ทหารไทยมากที่สุด ก็คือการรบที่สมรภูมิ Porkchop (พอร์คชอป) ซึ่งเป็นเนินเขาสูงตั้งอยู่บนแนวรบ บริเวณชายแดน เหนือเส้นขนานที่38 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ในสมรภูมิ Porkchop (พอร์คชอป) ภารกิจของกองกำลังทหารไทยโดยกองพันทหารราบ กรมผสมที่21 ได้รับคำสั่งจากหน่วยเหนือ ให้รักษาที่มั่นบนเนินเขาพอร์คชอปซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญไว้ให้ได้ ห้ามถอยหรือถอนตัวจากที่มั่นรบเป็นอันขาด ซึ่งทหารไทยก็ได้ทำการต่อสู้ปกป้องฐานที่มั่นไว้อย่างถึงที่สุด แม้จะถูกกองทัพคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือและจีนเข้าโจมตีด้วยอาวุธและกองกำลังจำนวน ๒ กองพัน ในขณะที่ทหารไทยมีจำนวน ๔๐ นาย โดยเข้าโจมตีถึง 3 ครั้ง ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่หนาวจัดพื้นที่ถูกปกคลุม ไปด้วยหิมะ ทำให้การต่อสู้ในครั้งนั้นเป็นสมรภูมิสุดหฤโหดที่ทหารไทยทุกนายต้องใช้ความเข้มแข็งของจิตใจในการยืนหยัดสู้รบจนทำให้เสียชีวิตไป 25 นาย แต่สามารถคร่าชีวิตฝ่ายข้าศึกได้กว่า 500 คน อันเป็นที่มาของฉายา “กองพันพยัคฆ์น้อย” หรือ “Little Tiger” อันหมายถึงนักรบร่างเล็กที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บที่แหลมคม และเปี่ยมไปด้วยหัวใจที่ห้าวหาญ ซึ่งได้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อทำการต่อสู้อย่างสมเกียรติ สมศักดิ์ศรีของทหารไทยในสมรภูมิต่างแดน จนกองทัพคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยกลับไปชัยชนะในสมรภูมิ Porkchop เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดผกผันของการรบ นำไปสู่การเจรจาหยุดยิง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 ตลอดช่วงระยะเวลาที่กองทหารไทย ได้เข้าประจำการในสงครามเกาหลีมีทหารที่เข้าร่วมรบทั้งสิ้น 11,786 นาย เสียชีวิต 136 นาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเกาหลีสร้างอนุสาวรีย์และศาลาไทยตั้งอยู่ที่ ต.อุนชอน จ.โปซอน ทางทิศเหนือของกรุงโซล เพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารไทยและเป็นสัญลักษณ์แห่งความระลึกถึงโดยมีข้อความจารึกเอาไว้ว่า “ท่านจะอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ ขอขอบคุณสำหรับอิสรภาพ” ภายหลังสงครามเกาหลีสงบลง ในปี พ.ศ. 2502 กรมผสมที่ 21 ก็ได้รับการสถาปนาเป็น กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีที่ตั้ง ณ ค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี ภายในได้สร้างอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเกาหลี และพิพิธภัณฑ์ทหารผ่านศึกเกาหลีขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติทหารไทยที่เสียชีวิตจากการสู้รบในสงครามเกาหลี และยึดถือวันที่ 22 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสงครามเกาหลีของประเทศไทย เพื่อเป็นการร่วมระลึกถึงวีรกรรมความกล้าหาญและความเสียสละของวีรบุรุษแห่งกองพันพยัคฆ์น้อย หรือ Little Tiger ทหารผ่านศึกไทยในสมรภูมิเกาหลีในครั้งนั้น จึงเปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี มาจนถึงปัจจุบันนี้ และเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ นาย ซอ อุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สาธารณรัฐเกาหลี และคณะ ได้เดินทางเพื่อมาเยือนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้เยี่ยมเยียนทหารผ่านศึกและครอบครัวที่เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลี รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและครอบครัวในการสงเคราะห์ให้เกิดคุณภาพและประโยชน์สูงสุด อันเป็นการช่วยในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศให้มีความมั่นคงและคงอยู่ยั่งยืนยาวตลอดไป