รมว.สุชาติ สั่งสอบเหตุกรณีหนุ่มวิศวกรประสบอุบัติเหตุสายสลิงขาด เครนหล่นทับเสียชีวิต นายจ้างมีความผิดไม่แจ้งการเกิดอุบัติเหตุต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย ช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิตประกันสังคมรุดมอบเงินทดแทน 1.7 ล้านบาท นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีโซเชียลมีเดีย เผยเหตุวิศวกรหนุ่มได้รับอุบัติเหตุ สายสลิงขาด เครนหล่นทับเสียชีวิต และมีการปิดข่าวนั้น ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ลูกจ้างตำแหน่งวิศวกรได้รับอุบัติเหตุ สายสลิงขาด และเครนหล่นทับเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นสถานที่ก่อสร้าง โครงการแห่งหนึ่งเป็นลักษณะอาคารคอนกรีตสูง 18 ชั้น ตั้งอยู่ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร มีบริษัทรายหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการก่อสร้าง ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุด 30 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างอาคารชั้นที่ 4 โดยมีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ในส่วนของโครงการ รับผิดชอบในส่วนของโครงสร้างอาคาร ระบบสาธารณูปโภค เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 08.45 น. ลูกจ้างอยู่ระหว่างการควบคุมงานก่อสร้าง เกิดเหตุสายสลิงที่ยึดแขนของเครน (BOOM) ขาด ส่งผลให้แขนเครนพับลงมากระแทกกับพื้นนั่งร้านในบริเวณที่ผู้เสียชีวิตยืนอยู่และทำให้ลูกจ้างตกลงจากพื้นชั้นที่ 4 ลงสู่ชั้นที่ 3 จนได้รับบาดเจ็บเพื่อนร่วมงานจึงได้รีบนำส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และผู้บาดเจ็บได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา สำหรับผู้เสียชีวิต เป็นลูกจ้างตำแหน่งวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง มีอายุงาน 7 เดือน ได้ประสานญาติผู้เสียชีวิตช่วยเหลือเบื้องต้นด้านค่ารักษาพยาบาล และค่าทำศพ ทั้งนี้ได้มอบให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการตรวจสอบสิทธิและนำเงินทดแทนไปมอบให้ญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาท ค่าทำศพ 50,000 บาท และเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต 1,680,000 บาท นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยทราบในทันทีกรณีที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต โดยจะแจ้งโทรศัพท์ โทรสาร หรือวิธีอื่นใดที่มีรายละเอียดพอสมควรก็ได้ จะต้องแจ้งรายละเอียดและสาเหตุเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างเสียชีวิต หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดโดยมีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับกรณีนี้พนักงานตรวจความปลอดภัยสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ยังไม่ได้รับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจากนายจ้างแต่อย่างใด และนอกจากนี้ความผิดตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯที่พบบ่อยครั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานคือ นายจ้างไม่ได้จัดทำและแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่จะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งความผิดดังกล่าวจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ถึงปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขึ้นอยู่กับฐานความผิดนั้นๆ ซึ่งจะต้องดำเนินการสอบข้อเท็จจริงต่อไป