ดูจะเป็นภาพสะท้อนที่ขัดแย้ง และสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อ “ผู้นำรัฐบาล” คือ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศอยู่หลายคราว ว่ารัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม แต่เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แล้วเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งใหม่ จาก “ฝ่ายค้าน” กลับดังกระหึ่มกันตั้งแต่ต้นปี แม้แต่ “พรรคร่วมรัฐบาล” เองก็ยังถูกกดดันให้ตอบคำถามจากสื่อว่า “พร้อมเลือกตั้งหรือไม่?” ยิ่งเมื่อล่าสุดมีการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ 3เขต ประกอบด้วย เขต 9 กทม. , เขต 1 จังหวัดชุมพร และเขต 6 ที่สงขลา ยิ่งทำให้บรรยากาศทางการเมืองกลับมาคึกคักและดุเดือดขึ้นมา คล้ายกับว่าการเลือกตั้งครั้งใหญ่ กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ทั้งที่เป็นการเลือกตั้งซ่อม แทนที่ส.ส.เก่าที่ต้องพ้นสมาชิกภาพไปทั้ง 3เขต แต่ปรากฏว่า สนามเลือกตั้งซ่อม กลายเป็นสมรภูมินอกสภาฯ พ้นรั้วทำเนียบรัฐบาลสำหรับ พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ทั้ง พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เปิดหน้าซดเกาเหลาในระหว่างการทำงานในรัฐบาล ต่างกรรม ต่างวาระ มาอย่างต่อเนื่อง ทว่าท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เองจำเป็นที่จะต้องรักษา “ระยะห่าง” ด้วยการไม่โดดลงไปร่วมวง แห่งความขัดแย้ง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อรักษา “เสถียรภาพ” ของรัฐบาล ในช่วง เข้าโค้งสุดท้าย ของรัฐบาลก่อนที่จะไปครบเทอมในปีหน้า 2566 หากไม่เกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” อย่างใด อย่างหนึ่งขึ้นมาเสียก่อน ! การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว แต่สำหรับ “นักการเมือง” แล้ว มีหรือที่จะไม่พร้อมลงสนาม ! ในทางตรงกันข้ามกลับพบว่าตลอดห้วงปี2564ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มบุคคลที่เตรียมเปิดตัวจัดตั้งพรรคใหม่ ย้ายลาออกจากพรรคต้นสังกัดเดิมเพื่อย้ายค่าย ไปอยู่บ้านหลังใหม่ของแต่ละคน ล้วนแล้วแต่มีเหตุและผลที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่าแทบทุกพรรคการเมืองล้วนแล้วแต่ต้องรับมือกับภาวะ “เลือดไหล” เมื่ออดีตส.ส. และสมาชิกระดับแกนนำพรรค ทยอยลาออก โดยไม่ได้นัดหมาย อย่างไรก็ดี แม้ภาพการขยับ ปรับโหมดเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ยังมาไม่ถึงเพราะอย่าลืมว่า ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯเพียงคนเดียว แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า แต่ละพรรค แต่ละขั้ว ต่างพากัน “แตะมือ” กันเอาไว้อย่างหลวมๆ โดยที่ยังไม่ถึงขั้น “ทำข้อตกลง” ว่าภายหลังการเลือกตั้งรอบหน้า “ใคร” จะจับขั้วกับ “ใคร” ก็ตาม แต่ลึกๆแล้ว ภาษานักการเมือง ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ย่อมประเมินได้ไม่ยากว่า จับขั้วกับ “ใคร” แล้วจะมีโอกาสได้เป็น “รัฐบาล” คือเงื่อนไขที่สำคัญยิ่ง ! ยิ่งเมื่อต่างฝ่ายต่างมองเห็นแล้วว่าการที่พรรคใด พรรคหนึ่ง จะสามารถชนะขาดถล่มทลายชนิดที่เรียกว่า “แลนด์สไลด์” สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเหมือนที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ปลุกขวัญและสร้างพลังใจให้กับ พรรคเพื่อไทยนั้นดูจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ห่างไกลจากความเป็นจริงไม่น้อย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้วันนี้จะเป็น พรรคแกนนำรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า พลังประชารัฐที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค จะสามารถกวาดที่นั่งส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ในทางตรงข้าม พรรคอาจต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งก๊ก แบ่งขั้ว จนกลายเป็นสนิมเนื้อใน ทำลายพรรคเสียเอง อีกทั้งหากใกล้วันเลือกตั้งเข้ามา แต่พลังประชารัฐ ยังเคลียร์ “ศึกใน” ไม่ลงตัว โอกาสที่จะได้เห็น ภาวะเลือดไหล มีส.ส.ถูกฝั่งตรงข้ามดึงตัวออกไป ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นให้เห็น ดังนั้นหมายความว่า เมื่อสองพรรคใหญ่ขั้วตรงข้ามต่างอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ฟันธงได้ว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแท้จริง โอกาสที่จะเกิดรัฐบาลผสมจึงวนกลับมาอยู่ในสูตรการเมืองเดิมอีกครั้ง ฉะนั้นในท่ามกลางเกมการต่อสู้ที่ดุเดือด เข้มข้น ฟาดฟันกันอย่างหนักนั้น แต่อีกด้านหนึ่ง การแตะมือ สร้าง “พันธมิตร”ทางการเมือง ประสานมือกันทุกทิศ ทุกทาง ทั้งใต้ดิน และบนดิน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ที่น่าหนักใจคืออนาคตของพรรคก้าวไกลที่มีโอกาสถูกโดดเดี่ยว บนกระดานการเมือง หน้าใหม่ รอบหน้า !