ค่าครองชีพที่พุ่งแรงขนานไปกับการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบให้ราคาอาหารทั้งหมู เป็ด ไก่ ไข่ ตามมาด้วยการปรับค่าขนส่ง ค่าเรือโดยสารอีก 1 บาท ค่าทางด่วน 15-35 บาท อีกทั้งราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ซ น้ำมัน ไต่เพดานสูงขึ้นๆสวนทางกับค่าจ้างที่ไม่ปรับตามไปด้วย โดยถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพให้คลี่คลายลงได้ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจเผชิญกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กำลังซื้อหดตัวจากอัตรารายได้ต่อหัวที่ไม่เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าลดลง สาเหตุของการเกิดอัตราเงินเฟ้อที่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้น เนื่องจากมีความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสูงขึ้น ขณะที่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การผลิตมีการชะลอตัว เป็นผลมาจากการชะลอการลงทุนจากภาวะล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะขยายกำลังการผลิต และการผลิตสินค้าบางส่วนยังคงชะงักงัน เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ถามว่าเงินเฟ้อคืออะไร ภาวะเงินเฟ้อ หมายถึงภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจะกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อคือ 1.กระทรวงพาณิชย์ 2. ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งคือการดูแลราคาสินค้าและบริการไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบผู้บริโภค หรือตรึงราคาไว้ในช่วงที่สินค้าขาดแคลนระยะสั้น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตามรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่ายต่างๆทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบภาวะเงินเฟ้อสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และความกินดีอยู่ดีของประชาชน สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆคือ 1.ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (เรียกว่า Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น 2.ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (เรียกว่า Cost – Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย ตรงกันข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ เงินเฟ้อกับเงินฝืดต่างกันอย่างไร ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลายประการเช่น ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนลดลง หรือปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง ผู้ผลิตก็อาจไม่ต้องการผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม ทำให้ลดกำลังการผลิตลง และส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซาในที่สุด ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดเกิดจากการเคลื่อนไหวขึ้นลงของเศรษฐกิจตามวัฏจักร แต่หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อล้วนส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น รายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง อาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูงจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่างกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมาร้อยละ1 อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2 อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็นร้อยละ -0.5 ต่อปี ถือว่า กำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง การฝากเงินทำให้ได้รับผลตอบแทนจริงๆติดลบทำให้ผู้ฝากไม่อยากออมเงิน และอาจหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์และหุ้น เป็นต้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย เรื่องนี้หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ อาจทำให้เกิดเป็นภาระหนี้สินได้ ถึงเวลานี้ต้องใช้จ่ายประหยัด จ่ายเท่าที่จำเป็น ถือเงินสดอยู่ในมือดีที่สุดในยุคข้าวยากหมากแพง ขอบคุณข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย