ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี มีบทบาทภารกิจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อกระจายสู่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งสามารถผลิตได้ตามเป้าหมายที่ได้รับมาสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปี 2564 จำนวน 3,800 ตัน ผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์ กข31 นายสันต์ชัย ศีลพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี กล่าวว่า กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี มีขั้นตอนการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพดี ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้ 1.การวางแผนการผลิต การกำหนดเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชนิด แต่ละพืชพันธุ์ จัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานหลายด้าน ได้แก่ การตลาด สภาพพื้นที่ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ชนิดของพืชพันธุ์ที่ดำเนินการผลิต การกำหนดช่วงเวลาการปลูกและเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตมีคุณภาพดี 2.การคัดเลือกพื้นที่ และเกษตรกร วิธีการปฏิบัติควรดำเนินการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรไปพร้อมๆกัน โดยพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีสภาพทำเลที่ตั้งเหมาะสมต่อการผลิตพืช/พันธุ์นั้นๆ มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในเขตชลประทาน หรือมีน้ำเพียงพอ เป็นพื้นที่ติดต่อกันเป็นแปลงใหญ่ มีการคมนาคมสะดวก ไม่เป็นพื้นที่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู หรือในฤดูที่ผ่านมาปลูกพืชชนิดเดียวกัน แต่ต่างพันธุ์กับพืชที่ผลิต เพื่อป้องกันการปะปนพันธุ์ การคัดเลือกเกษตรกร ควรพิจารณาผู้มีความพร้อม ความชำนาญ และประสบการณ์ในการปลูกพืชเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ สามารถเรียนรู้และยอมรับวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ มีความซื่อตรง และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ให้มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน 3.การจัดหาเมล็ดพันธุ์เพื่อการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปใช้ปลูกในแปลงขยายพันธุ์ต้องมั่นใจ และสามารถทวนสอบกลับได้ว่ามาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และยืนยันคุณภาพอีกครั้ง ก่อนจ่ายเมล็ดพันธุ์ โดยกลุ่มควบคุมคุณภาพของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว มีปริมาณพอเพียงและมีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานของชั้นเมล็ดพันธุ์หลักหรือขยาย 4.การวางแผนปฏิบัติงานการติดตามแปลงขยายพันธุ์ การวางแผนการปฏิบัติงานการติดตามแปลงขยายพันธุ์ ต้องดำเนินการทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลแปลงขยายพันธุ์ เริ่มต้นจากการวางแผนการจัดทำแปลงขยายพันธุ์และแผนปฏิบัติงานติดตามแปลงขยายพันธุ์ โดยกำหนดช่วงเวลาปฏิบัติงานที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอนที่สำคัญ คือการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกร จัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ร่วมจัดทำแปลงขยายพันธุ์ จ่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ บันทึกวันที่ปลูก การจัดขนาดของกลุ่มแปลง และกำหนดแผนปฏิบัติงานติดตามแปลงขยายพันธุ์ในช่วงเวลาต่างๆ 5.การติดตาม กำกับแปลงขยายพันธุ์ให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง การจัดทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี จำเป็นต้องมีการติดตาม กำกับ ควบคุมการปฏิบัติของเกษตรกรให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพดี มีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานเพื่อการติดตามแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพ จะถูกกำหนดขึ้นตามระยะการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ การเตรียมดิน การปลูก การป้องกันกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู การตรวจตัดพันธุ์ปน และการเก็บเกี่ยวในระยะเหมาะสม 6.การตรวจตัดพันธุ์ปน เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในแปลงขยายพันธุ์ โดยตรวจสภาพต้นพืชที่ปลูกอยู่ในแปลงขยายพันธุ์ มีลักษณะตรงตามพันธุ์พืชที่ต้องการเพียงใด หรือมีต้นพืชพันธุ์อื่นขึ้นปะปนอยู่ จึงควรต้องการตรวจตัดสินแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการอย่างน้อย 1 ครั้ง ในระยะที่สามารถประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ถูกต้องได้ดีที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ในระยะต่างๆ ระยะกล้า ระยะแตกกอ ระยะออกดอก ระยะโน้มรวง ระยะก่อนการเก็บเกี่ยว 7.การเก็บเกี่ยว เจ้าหน้าที่ควบคุมแปลงขยายพันธุ์ ควรแนะนำให้เกษตรกรระบายน้ำออกจากแปลงนาก่อนถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน เพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอ หรือสังเกตเมล็ดที่ปลายรวงเปลี่ยนเป็นแป้งแข็ง และเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง การผลิตเมล็ดพันธุ์ สิ่งสำคัญคือกระบวนการผลิต ที่กำหนดคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ ทั้งปริมาณและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีได้มีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวให้มากขึ้น โดยเฉพาะชาวนาได้มีโอกาสเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมากขึ้นอีกด้วย