นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตามที่ตนในฐานะผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าฉลอม อ.เมืองสมุทรสาคร ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้ทำการตรวจสอบเหตุร้องเรียนปัญหาส่อรุกล้ำลำน้ำสาธารณะของการดำเนินงานของ รีสอร์ทแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดูแลของนิคมสหกรณ์บ้านไร่ หมู่ที่ 8 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ในเนื้อที่ประมาณ 8-3-24 ไร่ นายสนธิญา กล่าวต่อว่า ซึ่งผลจากการตรวจสอบของศูนย์ดำรงธรรมฯ ปรากฏว่าโครงการฯดังกล่าวอยู่ใน เขตนิคมสหกรณ์บ้านไร่ ต.พันท้ายนรสิงห์ จังหวัดสมุทรสาคร มีสัญญาเช่า 30 ปี ต่ออายุสัญญาทุก 5 ปี โดยมีสิ่งปลูกสร้างต่างๆได้ขออนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พันท้ายนรสิงห์ ตามแบบที่เสนอและมีการติดตั้งระบบบำบัดนํ้าเสีย ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้มีการรุกลํ้าพื้นที่ทางนํ้าหรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ แต่ปัจจุบันไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่า จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ ตามมติของคณะกรรมการพิจารณาการอนุญาต ที่ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2563 ที่เห็นควรไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์บ้านไร่ จังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่วันที่หมดสัญญาอนุญาต เนื่องจากเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวเพื่อการพาณิชย์ และมีรายได้จากการดำเนินการ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกนิคมสหกรณ์ และประชาชนทั่วไป ทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดที่ดิน ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ต่อมา ได้มีการทำหนังสือลงวันที่ 30 กรกฎาคม 63 ส่งไปอุทธรณ์ แต่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ มีคำสั่งยกคำร้อง ยืนยันไม่ต่อสัญญาเช่า และไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าว ทางโครงการฯจึงยื่นเรื่องฟ้องไปยังศาลปกครอง และได้รับการคุ้มครองฯ จนถึงขณะนี้ ด้านนายมานะ อ่อนนุ่ม สหกรณ์จังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า ที่ดินของโครงการทำรีสอร์ทดังกล่าว ได้ขอเช่าใช้พื้นที่ในอัตรา 16,000 บาทต่อไร่ต่อปี โดยได้ชำระค่าบำรุงพื้นที่ รวม 5 ปี เป็นเงิน 590,000 บาท ตั้งแต่วันทำสัญญาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 โดยระบุ “เพื่อจัดทำโครงการอนุรักษ์ปรับปรุงพื้นที่ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ต่อเนื่องโครงการตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดสมุทรสาคร ทั้งมีความประสงค์จะก่อสร้างโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ทางเดินวอล์คเวย์ ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต” แต่พบว่าดำเนินการผิตไปจากวัตถุประสงค์จึงไม่ต่อสัญญา ยกคำร้องอุทธรณ์ และเวลานี้เตรียมทำเอกสารชี้แจงประกอบคดี หากมีคำสั่งแจ้งให้ส่งคำให้การไปยังศาลปกครอง เนื่องจากเป็นประกอบการทำธุรกิจส่วนตัวเพื่อการพาณิชย์ และมีรายได้จากการดำเนินการที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกนิคมสหกรณ์ และประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด จึงไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดที่ดิน ดังนั้นจึงอาศัยอำนาจตามความใน ม.15 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 สั่งหยุดต่อสัญญาดำเนินการ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวต่อว่า จากเหตุนี้ต่อมาด้านนายธัชพงษ์ฯ ก็ทำหนังสือ (ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 63) เพื่ออุทธรณ์ แต่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ มีคำสั่งให้ยกคำร้องและยืนยันว่า ไม่ต่อสัญญาเช่าและไม่อนุญาตให้ใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวต่อไป ล่าสุดทางโครงการฯจึงยื่นเรื่องฟ้องไปยังศาลปกครอง และได้รับการคุ้มครองจนถึงขณะนี้ ++++++++++++