ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจจากธนาคารพาณิชย์หลายสำนัก ต่างมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสโตแต่จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยที่เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะโตประมาณ 3% จากการเปิดประเทศกระตุ้นการท่องเที่ยว ในปีที่แล้ว แต่ก็พบว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ด้วยเหตุหลายประการ เช่น นักท่องเที่ยวจีนจากแผ่นดินใหญ่ไม่เดินทางมาเพราะรัฐบาลจีนห้าม นอกจากนี้การบริหารจัดการเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อนักท่องเที่ยวยังมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงอีกไม่น้อย อนึ่งด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็มีเพียงบางเบาต่างกับตัวเลขที่เสนอขอลงทุนกับ BOI ค่อนข้างมาก ส่วนที่ลงทุนอยู่ในขณะนี้ก็มีการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงกว่า ด้านการลงทุนจากรัฐบาลนั้นมีขอบเขตจำกัดมาก เพราะเรามีงบประมาณขาดดุลอยู่ประมาณ 200,000 – 300,000 ล้านและจะเป็นอย่างนี้อีกหลายปี เพราะเรามีหนี้สาธารณะจำนวนมากถึง 9.9 ล้านๆบาท คิดเป็นประมาณ 58% ของ GDP ซึ่งทำให้มีภาระในการจ่ายคืนเงินกู้และดอกเบี้ยไปจากส่วนหนึ่งของงบประมาณ และมีแนวโน้มหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน จนทำให้รัฐบาลต้องเพิ่มเพดานเงินกู้จาก 60% เป็น 70 % เมื่อการลงทุนของรัฐบาลที่จะเป็นตัวชี้นำการลงทุนภายในประเทศของภาคเอกชนลดลง ย่อมทำให้การลงทุนภาคเอกชนต่ำลงไปด้วย สังเกตได้จากการขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุนมีน้อยมาก และพบว่าธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่มากด้วยทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่สู้จะวิตกกังวลนัก เพราะมีผู้กู้รายใหญ่ คือ รัฐบาลรอกู้อยู่คาดว่าปีนี้ต้องกู้อีกประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องทำงานหนักอะไร เพราะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากในระดับต่ำ เช่น ฝากเผื่อเรียกต่ำกว่า 1% ฝากประจำ 3%-3.5% ในขณะที่เงินกู้ทั่วไป 9%-10% เงินกู้รัฐบาล 5%-7% จึงมีส่วนต่างเหลือเฟือสบายดี โดยเฉพาะเงินกู้จากรัฐบาลรับรองไม่มี NPL ด้านการค้าระหว่างประเทศก็ซบเซา เพราะเศรษฐกิจโลกหดตัว ขณะที่ประเทศไทยยังหากินกับการค้าระหว่างประเทศแบบเดิมๆ แถมยังมีผู้เข้าแข่งขันมากขึ้น เช่นกัมภูชามีการลงทุนจากต่างชาติด้านโลจิสติกทั้งระบบบที่สีหนุวิล ด้านตรงข้ามในอ่าวไทย ส่วนมาเลเซียก็เริ่มโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้จะทำให้เราเสียส่วนแบ่งทางตลาดไป ประกอบกับภาวะตลาดโลกที่เกิดภาวะเงินเฟ้ออันเกิดจากการลดลงของปัจจัยการผลิต และต้นทุนที่สูงขึ้นยิ่งทำให้ตลาดโลกมีภาวะตึงตัวจากการแข่งขันที่แต่ละประเทศพยายามที่กลับมาฟื้นตัวจากพิษโควิด อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังคงมีดุลการค้าเกินดุล เพราะการนำเข้าลดลงมากกว่าการส่งออก จึงทำให้ค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งตัว แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้มาตรการต่างๆที่จะทำให้เงินบาทอ่อนตัวลง ก็ตาม เงินบาทก็ยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศในภูมิภาค จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เพราะค่าเงินบาทแข็งตัว ทำให้ราคาส่งออกสูงเกินความจำเป็น หากต้องการขายให้ได้ก็ต้องลดราคา นำมาสู่การกดราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งก็ทำได้เฉพาะภาคการเกษตร ด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นรายจ่ายหลักที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่ค่อยกระเตื้องขึ้น เพราะรายได้ของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลาง ถึงรายได้ต่ำหดตัว เนื่องจากสภาพการจ้างงาน การประกอบธุรกิจขนาดย่อม SME ร้านอาหารกับธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ต่างมีผลกระทบจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและ การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับมาตรการของรัฐบาลที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริง ขณะที่ราคาพืชผลทางการเกษตรในการส่งออกต่ำลง ราคาอาหารและสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ประปา ต่างทยอยขึ้นมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ซึ่งแม้จะไม่สูงมากนัก แต่ก็เป็นภาระต่อการครองชีพสำหรับคนยากจน ด้านกนง.ที่ควบคุมดอกเบี้ยนโยบายอาจต้องประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มิใช่เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่เพราะเฟดของสหรัฐฯอาจประกาศเพิ่มดอกเบี้ยอีก อันจะมีผลทำให้เงินไหลออกมากเกินความเหมาะสม ซึ่งถ้ามีการดำเนินการจริง จะเกิดผลกระทบกดดันต่อสภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไป อนึ่งปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ หนี้ครัวเรือน ซึ่งคือหนี้ที่ประชาชนทั่วไป ไปกู้จากสถาบันการเงินในขณะนี้มีระดับสูงประมาณ 90% ของ GDP ทั้งนี้ยังไม่นับรวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบที่คาดว่ามีจำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ปัจจัยทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว จะทำให้การบริโภคไม่เติบโตเท่าที่ควร อันจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากมีการทบทวนและประเมินกันใหม่แล้ว น่าจะอยู่ที่การเติบโตเพียงประมาณ 1% เท่านั้น ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เป็นปัญหา ต่อการคลังก็คือการเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า เพราะรายได้ภาคธุรกิจและบุคคลหดตัว ทำให้เกิดปัญหางบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องหาทางเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆมากขึ้น และภาษีที่จะเพิ่มและเก็บง่ายสุด คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประเมินอย่างคร่าวๆแล้วเพิ่ม VAT 1% จะได้เงินประมาณ 100,000 ล้านบาท หากเพิ่ม 3% คือจาก 7% เป็น 10% ก็จะได้ภาษีเพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการเพิ่ม VAT ก็จะไปเพิ่มระดับราคากระตุ้นเงินเฟ้อ และผู้ประกอบการธุรกิจการค้าก็จะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กับผู้มีรายได้น้อย และคนยากจนเป็นจำนวนมาก จากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และคงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้นเป็นปกติ ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินเฟ้อ ทำให้เป็นแรงกดดันต่อรัฐบาล ซึ่งยังไม่มีนโยบายอะไรที่ชัดเจน และเป็นระบบที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด นอกจากนโยบายแบบเป็นชิ้นๆ (Piece Meal) แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยอาศัยระบบและกลไกราชการที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่คุ้มค่ากับต้นทุน (Cost Effective) ทำให้เกิดแรงต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นจนอาจถึงขั้นก่อให้เกิดจราจลเพราะคนจำนวนมากไม่มีจะกิน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการเมืองในรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฟากรัฐบาลที่ไม่เป็นเอกภาพและแข่งขันกันเอง หรือส.ส.ฝ่ายค้านที่กดดันและตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ปัญหาบางอย่างที่สะสมอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่อาจแก้ไข เช่น ราคาพืชผักที่แพงขึ้น ราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นจากโรคระบาดที่เกิดมาเกือบ 3 ปี แล้วแต่เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงไม่รู้ ประกอบกับปัญหาการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร และการแสดงออกของประชาชน โดยสันติก็เป็นปัญหาเหมือนหม้อน้ำเดือดแล้วปิดฝาแน่น ซึ่งจะต้องระเบิดในที่สุด แค่ปัญหาง่ายๆอย่างราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังควบคุมไม่ได้ ยิ่งกองสลากออกมาพูดมากเท่าไร จัดมาตรการอะไรออกมาเพื่อแก้ไข กลับทำให้ราคาแพงขึ้นอีกมาก ตอนนี้ฉบับละ 100 ยังหายากแล้ว ซึ่งความจริงมันก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำ แต่ทำไมไม่ทำ ขณะที่ประชาชนเขารู้กันทั่ว ปัญหาต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลลงไป ยิ่งมีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาแทรก เพราะดินแดนแถบภูมิภาคอาเซียนกำลังเป็นสมรภูมิ การต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการแทรกแซง กิจการภายในประเทศซึ่งในความเป็นจริงก็ทำกันอยู่แล้วเพื่อผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย แม้รัฐบาลจะค่อนข้างมั่นใจในการสนับสนุนของกองทัพ และส.ว.แต่งตั้ง แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบน้ำผึ้งหยดเดียว จนเป็นเหตุลุกลามบานปลาย หลักประกันทั้งระดับบน ระดับล่างก็ยากที่จะหยุดเหตุการณ์ที่เหมือนไม่เกี่ยวพันกัน แต่กลับสอดรับกันตามทฤษฎีความวุ่นวาย (Chaos Theory) ซึ่งมีคนนำมาอธิบายสาเหตุการเกิดปฏิวัติฝรั่งเศส หรือสงครามโลกมาแล้ว ที่น่าวิตกมากก็คือรัฐบาลดูจะไม่สนใจเหตุการณ์เหล่านี้ แต่มุ่งที่จะกระชับอำนาจด้วยกลวิธีต่างๆที่คิดว่าถูกต้อง แม้แต่การคิดจะยุบพรรคการเมืองบางพรรคในขณะจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นไปได้ แต่มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะต้นเหตุมันอยู่ที่ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงทำให้รัฐบาลอ่อนแอ...