เมื่อองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เปิดประชุม รับฟังความคิดเห็นภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อนําเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมของจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ได้รับทราบ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวได้รวบรวมข้อมูลทั้งในด้านศักยภาพของพื้นที่ ตลอดจนขั้นตอนและประโยชน์ของประชาชนและจังหวัดจะได้รับจากการประกาศให้พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์แห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งมีทั้งแนวทาง แผนงานและโครงการที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ ในการขับเคลื่อนร่วมกับ อพท. ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งในช่วงที่ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเจ้าของพื้นที่ทุกภาคส่วน เพื่อให้ อพท. สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่พิเศษจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินอยู่บนพื้นฐานปรัชญาการทำงานแบบ Co-Creation ภายใต้แนวความคิด 5 ร่วม ของ อพท. คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ และเพิ่มอีก 1 ร่วม คือร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own เพื่อสร้างให้เกิดความหวงแหนทรัพยากรที่มีคุณค่าในจังหวัด ช่วยเพิ่มและกระจายรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ด้วยเครื่องมือสำคัญที่ อพท. นำมาพัฒนาและสร้างต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คือ เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ที่มุ่งสร้างความยั่งยืน ดูแลครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งการจัดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากร คุณภาพสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งทางสังคม และเศรษฐกิจ สำหรับหน่วยงานและผู้จัดการแหล่งท่องเที่ยว อพท. ได้ใช้มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS) ที่ได้พัฒนาและ ได้รับการรับรองในระดับสากลแล้ว สำหรับการพัฒนาและยกระดับให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ดำเนินการด้านท่องเที่ยว เพื่อนำองค์ความรู้ไปพัฒนาให้กับชุมชนในพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่ในภาคชุมชน อพท. จะใช้เครื่องมือการพัฒนาและขับเคลื่อนผ่านเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand ที่ได้ผ่านการทดสอบและเห็นผลในการสร้างคุณภาพและความยั่งยืนในพื้นที่พิเศษที่ อพท. ได้ดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2564 อพท. ได้จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคราม เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งผลการศึกษา พบว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและมีองค์ประกอบครบถ้วนตามเกณฑ์การประเมินพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีผลการประเมินที่ร้อยละ 81 ซึ่งสามารถประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ จากนั้น อพท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอร่างขอบเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดบุรีรัมย์ ไปเมื่อเดือนกันยายน 2564 และรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมในพื้นที่จริง ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ตามหลักวิชาการเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ชาวบุรีรัมย์พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน เพื่อผลักดันให้จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ยกระดับเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อันจะช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ กระจายเม็ดเงินสู่ชุมชนต่างๆในจังหวัด ผู้คนสามารถเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ในส่วนของนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จังหวัดได้วางแผนดำเนินโครงการท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้แก่ GU GUIDE พาเที่ยวบุรีรัมย์ 365 วัน เพื่อผลักดันให้บุรีรัมย์เป็นพื้นที่ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นการดึงศักยภาพของคนในชุมชนให้มีอาชีพเสริม คือ การเป็นนักสื่อความหมาย (ไกด์) นำเที่ยวในชุมชน ทั้งนี้ โครงการ GU GUIDE ได้เปิดรับสมัครคนในจังหวัดบุรีรัมย์ กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวที่มีโฮมสเตย์ หรือไม่มีโฮมสเตย์ ผู้ที่มีใจรักบริการ มีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ หรือรถสามล้อพ่วงข้างที่สามารถโดยสารคนได้ เข้าร่วมโครงการ ผู้สมัครจะได้รับการอบรมการบริการนำเที่ยวชุมชน การอบรมด้านการขนส่งโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว พร้อมจัดทำโปรแกรมเส้นทางการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจ ส่งเสริมให้เกิดรายได้ และการพัฒนาจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วย