นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ยังคงแผนการจัดเก็บภาษีเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นและคริปโตเคอเรนซี เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ และเป็นการขยายฐานการจัดเก็บภาษี เพื่อนำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ “เราไม่ได้ขยายฐานภาษีมานาน ซึ่งที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าในอดีต แต่รายได้จากภาษีต่อจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีข้อยกเว้นทางภาษีเป็นจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนในบางภาคส่วน แต่เมื่อการสนับสนุนมาระยะหนึ่งและถึงเวลาที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง การยกเว้นควรลดลง” ทั้งนี้ปัจจุบันประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ให้อำนาจแก่กรมสรรพากร จัดเก็บภาษีรายได้ที่เกิดจากการขายคริปโตอยู่แล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 ส่วนภาษีจากการซื้อขายหุ้นหรือ Financial Transaction Tax ก็อยู่ในกฎหมายของกรมสรรพากรแต่ได้ออกกฎหมายยกเว้นให้มา 30 ปีแล้ว โดยในหลักการของการจัดเก็บภาษีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการสร้างความเป็นธรรม โดยคนที่ใช้ทรัพยากร หรือคนที่มีรายได้ ก็ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ แต่ที่มีการออกข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีบางเรื่องนั้น ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้นๆเป็นการชั่วคราว อย่างในกรณีการซื้อขายหุ้นที่ได้รับการยกเว้นมา 30 ปี อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรายได้ของโบรกเกอร์ก็ต้องเสียภาษีอยู่แล้วด้วย ทั้งนี้ ในส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโตนั้น ขณะนี้กรมสรรพากร กำลังหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิตอล เพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนและทำให้การจัดเก็บภาษีและการยื่นแบบง่ายขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีคริปโตนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และปีที่แล้วมีคนที่ยื่นเสียภาษีตัวนี้ การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีคริปโตนั้น ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโต แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็เช่นกัน มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเพียงแต่ยกเว้นให้เท่านั้น ในเรื่องการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ในต่างประเทศมีการเก็บจาก Capital gain หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่นเดียวกับภาษีคริบโต ที่มีการเก็บภาษีจาก capital gain หรือจาก Transaction ซึ่งเรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งสองตัวนี้ว่าจะเลือกแนวทางใด สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนในเรื่องการเก็บภาษีคริปโตที่ต้องการให้นำผลขาดทุนมาหักออกจากผลกำไร(off set)ได้ด้วยนั้น กำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บ ซึ่งแนวทางการนำขาดทุนมาหักกลบอยู่ในหนึ่งของแนวทางที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วย ส่วนที่มีข่าวว่า อาจจะมีการยกเว้นภาษีคริปโตกรณีรายได้ต่อปีไม่ถึง 2 แสนบาทนั้น เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรกำลังพิจารณาในรายละเอียด ขณะที่ภาษีจากการขายหุ้นมีแนวทางว่าจะเก็บจากการขายต่อครั้ง หรือจะเก็บจาก Capital gain ซึ่งถ้าจัดเก็บจาก capital gain จะกระทบนักลงทุนรายใหญ่ เพราะมีการซื้อขายสูง ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางใด แต่ประเทศส่วนใหญ่จะเลือกเก็บวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่การจัดเก็บจาก capital gain จะมีความยุ่งยากในเรื่องของ Data ที่ต้องมีความรวดเร็ว เช่น สหรัฐฯที่เก็บจาก capital gain ซึ่งระบบสามารถบันทึกข้อมูลการซื้อขายแบบทุกนาทีได้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลังกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นและคริปโตเป็นการดำเนินการเก็บภาษีตามปกติที่ทุกธุรกิจหรือนักลงทุนต้องเสียภาษีกำไร โดยกรมสรรพากรทำหน้าที่ตามปกติ ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ที่ผ่านมาผ่อนปรนให้ เมื่อถึงเวลาก็ต้องเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้อง