ประเทศไทยเผชิญกับความแปรปรวนของธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณของน้ำฝนในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เกิดภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงได้จัดสรรงบประมาณในการส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำด้านภัยแล้งและน้ำท่วม
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะประธานแผนงานเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้นำเสนอกรณีศึกษาการแก้ปัญหาน้ำท่วม ตั้งแต่ระบบนิเวศ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.น่าน ราชบุรี อุบลราชธานี และสตูล โดยชี้ให้เห็นภาพในปัจจุบันของปัญหาน้ำมากในช่วงฝนตกหนัก และน้ำแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.สุจริต เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ตก ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่จะบรรเทาสภาพน้ำท่วม น้ำแล้งให้อยู่ในขอบเขตที่ควบคุมได้ การจัดการน้ำโดยชุมชนต้องเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องน้ำกินน้ำใช้ โดยการใช้น้ำที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการกระจายรายได้ รู้คุณค่าทรัพยากร ชุมชนต้องเข้ามาจัดการเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ต้องมีการขับเคลื่อนงานแบบ 3+2 คือ 1.การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน 2.การสร้างกฎกติกา 3.พัฒนาคน ร่วมกับ 1.การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี 2.จัดตั้งกองทุนในพื้นที่ของตนเอง ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค คิดค้นนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ในการจัดการน้ำและสร้างอาชีพ
รศ.ดร.สุจริต กล่าวเพิ่มเติมว่าสภาพอากาศในปัจจุบันกับเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมามีความแตกต่างกันมาก วิธีการที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอนาคตขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เริ่มจากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เขื่อน แม่น้ำ ประตูน้ำ ปั๊มสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ ต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมในทุกพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำง่ายขึ้น ปัจจัยต่อมาคือเรื่องของกฎกติกาในบริหารการจัดการน้ำ สุดท้ายคือปัจจัยเรื่องคน ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ต้องรับรู้ข้อมูลและนำข้อมูลที่ทันสมัยมาใช้ให้มากขึ้น
โครงการวิจัยมุ่งให้ชุมชนรับมือปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง
โครงการวิจัยเป็นการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ 30 ตำบลทั่วประเทศ โดยแยกเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะของภูมิประเทศและปัจจัยเรื่องของคนที่แตกต่างกัน งานวิจัยเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากคนในพื้นที่เป็นผู้ประสบภัย จะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับตำบล อบต. รวมไปถึงการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาดังกล่าว
รศ.ดร.สุจริต กล่าวย้ำว่า ระบบการป้องกันและวางแผนในเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้งในระดับพื้นที่จะต้องดึงชุมชนเข้ามาร่วมในการรับรู้ และสร้างแผนรองรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่เน้นการสร้างความเข้มแข็งโดยมีกระบวนการ เนื้อหาหลักสูตรเพื่อพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้สามารถวางแผนและทำงานร่วมกับ อบต.ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง
“ในงานวิจัยมีปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนา ได้แก่ การพัฒนากระบวนการ และเกณฑ์ที่พึงมี โดยเพิ่มระบบนวัตกรรมเข้าไปด้วยเพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถโยงปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ด้วยการสร้างระบบเชื่อมโยงจากความต้องการของชุมชนไปสู่แผนของ อบต. ทำให้ปัญหาระดับปัจเจกบุคคลมาสู่การแก้ปัญหาระดับกลุ่มได้ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ สร้างความมั่นคง ยกระดับรายได้ นำไปสู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายได้” รศ.ดร.สุจริต กล่าวสรุปถึงเป้าหมายในงานวิจัยนี้
อย่างไรก็ตาม การสร้างความมั่นคงในมิติการพัฒนาสมัยใหม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการน้ำเป็นประเด็นสำคัญทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม โดยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องน้ำได้ถูกยกระดับจากเดิมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของทุกคนในการดำรงชีพ มาสู่การเป็นตัวเชื่อมในการพัฒนา นอกจากนี้ การลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงสังคมเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ดีจะต้องมีกฎกติกาในการแบ่งปันช่วยเหลือ มีการใช้ข้อมูลความรู้เพื่อยกระดับความสามารถในการแก้ปัญหาจากในระดับบุคคลเป็นการแก้ปัญหาเชิงกลุ่ม การมีน้ำเพียงพอในจังหวะที่เหมาะสมจะสร้างโอกาสในการผลักดันการสะสมต้นทุนทางสังคม และเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ นอกจากนี้น้ำยังช่วยหล่อเลี้ยงสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย
เป้าหมายทางสังคมด้านการบริหารจัดการน้ำของแผนงานยุทธศาสตร์
รศ.ดร.สุจริต เผยว่างานวิจัยในขั้นต่อไปจะยกระดับสู่ตัวอย่างของหน่วยงานในพื้นที่ด้วยการนำความรู้มาแก้ปัญหาในระดับเล็ก กลาง ใหญ่ รวมถึงปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เราอยากสร้างต้นแบบที่มีพลัง เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาเชิงระบบ หลังจากนี้จะผลักดันให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินงาน จากปีนี้ที่ดำเนินการวิจัยในพื้นที่ 30 ตำบล ปีถัดไปจะถ่ายทอดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดำเนินการต่อ โดยขยายเป็น 300 ตำบล ซึ่งงานวิจัยจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาในตำบลอื่นๆ ได้