วันที่ 7 ม.ค.65 จากสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ของจังหวัดพะเยา หลังจากมีการเปิดสถานบริการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 พบว่า มีผู้ติดเชื่อโควิด 19 ในวันที่ 4 มกราคม 2565 จำนวน 29 ราย และในวันที่ 5 มกราคม 2565 พุ่งกระฉูดขึ้นเป็น 57 ราย และจากการตรวจแบบสุ่มในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด ในร้านพระราม 8 ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของสถานบริการที่พบผู้ติดเชื้อ พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน 10 คน จากกลุ่มตัวอย่าง 13 คน และคาดว่าผู้ที่ติดเชื้อจากสถานบันเทิงแห่งนี้เกือบทั้งหมดติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ล่าสุด นพ.ศุภชัย บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.พะเยา พร้อมด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ทางจังหวัดพะเยา ได้กำหนดให้ผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้ารับการรับษากับทาง รพ.ประจำอำเภอต่างๆ จนกว่าเตียงจะเต็ม จึงจะจัดให้พักใน CI (ศูนย์พักคอย) ในแต่ละอำเภอซึ่งทุกอำเภอได้พร้อมแล้ว โดยใช้สถานที่เดิมหลังจากที่ถูกยกเลิกไป ส่วน รพ.พะเยา เนื่องจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนแม้จะติดต่อหรือระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่อาการจะไม่รุนแรงจึงสามารถเข้าพักใน CI ได้ โดยมีทีมงานแพทย์ พยาบาล คอยดูแล ส่วนโรงพยาบาลพะเยาจะสงวนไว้กับรองรับผู้ป่วยที่อาการหนักเท่านั้น และเชื่อว่าศูนย์พักคอย ที่เตรียมไว้นั้น เพียงพอในการดูแลรักษาคนป่วย และได้วางแผนระยะยาวในการรับมือไว้อีกช่วงคือเดือนกุมภาพันธ์–มีนาคม เพื่อไม่ให้ระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นพ.ศุภชัย กล่าวต่อว่า ในบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน กว่า 200 ราย และคาดว่าจะทะลุไปถึง 500 ราย เนื่องจากเกิดคัตเตอร์เพิ่มขึ้นจากคลัสตอร์พระราม 8 ไปสู่คลัสเตอร์ในพื้นที่อำเภอจุน ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา จะได้เร่งทำการสอบสวนโรคและรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะๆ ส่วนประเด็นที่ทำให้มีการระบาดของโอไมครอนในร้านอาหารพระราม 8 เนื่องจากทางร้านฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดพะเยา ไม่มีการตรวจ ATK ไม่มีการวัดอุณหภูมิ และปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 เข้าไปใช้บริการ ดังนั้นทางจังหวัดจึงได้สั่งปิดร้าน 30 วัน ส่วนการกระทำอื่นๆอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และในภาพรวมจังหวัดได้ประกาศให้จำหน่าย ดื่มกินสุราไม่เกิน 4 ทุ่ม เครื่องดนตรีงดทุกกรณี และได้กำชับตำรวจ ฝ่ายปกครอง ตรวจสอบร้านอาหารที่ตนเองรับผิดชอบอยู่อย่างเคร่งครัด