บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ข่าวการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) แรงมาตั้งแต่ปลายปี 2564 คาดว่าน่าจะไม่เกินกลางปีนี้ ซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณเดือนมีนาคม 2565 แต่ก็อยู่ที่รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี และหาก กกต. พร้อมรัฐบาลก็พร้อมเคาะการเลือกตั้งได้ทันที เท่ากับเป็นการยืดเวลายื้อการเลือกตั้งให้ยาวออกไป ถ่วงเวลาการคืนอำนาจให้ท้องถิ่น เพราะมีเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดๆ ในการหน่วงรั้งการเลือกตั้งออกไป
เนื่องจากการเว้นว่างการเลือกตั้งท้องถิ่นมานาน นับจาก คสช.รัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และก่อนที่รัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2563 แต่มีประเด็นว่าจะเริ่มประเดิมให้มีการเลือกตั้งจาก อปท.ประเภทใดก่อน บ้างก็ว่า เริ่มจากหน่วยใหญ่ก่อน ที่มีจำนวนหน่วย อปท.ที่น้อยกว่า เช่น กทม. เมืองพัทยา และ อบจ. สุดท้าย ครม.โดยฉันทานุมัติของ มท. เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งที่เริ่มจาก อบจ.ในปลายปี 2563 ซึ่ง กกต.ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งผิดคาด
เพื่อการแก้ไขปัญหาของกทม.ที่มีอยู่มากมาย เสียงในใจของคนกรุงเทพฯ ความหวังกับผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ คนกรุงเทพจะเลือกผู้ว่าฯ แบบไหน ข่าวการเช็กคะแนนนิยมของว่าที่ผู้สมัครมีตลอดเป็นจุดสนใจของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
กทม.มีสถานะเป็น “เมืองโตเดี่ยว (Primate City)” หรือ “เอกนคร” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเมืองใหญ่ในฐานะเครือข่ายเมืองระดับโลก (global city) ที่มีประชากรมากที่สุด แต่ยังไม่เป็นเมืองมหานคร (Metropolis) เพราะมีประชาชนไม่ถึง 10 ล้านคน กทม.เป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ ศิลปวัฒนธรรม การเดินทางท่องเที่ยว และการสื่อสาร ที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองมากที่สุดในประเทศ กล่าวคือ กทม.เป็น Big City เป็น “เมืองแม่เมืองบริวาร” มีพื้นที่ลักษณะ “ความเป็นเมือง” (Urban Area) ที่มากกว่าพื้นที่ “ชนบท” (Rural Area) โดยมีจังหวัดเชียงใหม่ (2545) เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 กทม.เป็นแชมป์ “เมืองจุดหมายปลายทางโลก ปี 2559” (Master Card Global Destination Cities Index) จาก 132 เมืองทั่วโลกที่มีผู้เดินทางมาเยือนมาท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก จำนวน 21.47 ล้านคน
โครงสร้างการปกครองรูปแบบกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบัน กทม. คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 มีพื้นที่ 1.568 ล้าน ตร.กม. ประชากร 5.6 ล้านคน ด้วยงบประมาณปี 2565 จำนวน 79,000 ล้านบาท
กทม.เลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนแรก ล่าสุดเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งที่ 10 หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกก่อนครบวาระหนึ่งวัน และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง แต่ในที่สุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ถูกปลดโดย คสช.เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 และตั้งพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่ากทม.เป็นแทน
กทม.ต่างจากจังหวัดอื่นๆ กทม.มีการปกครองในแบบพิเศษ คือมีหน่วยการปกครองท้องถิ่นเดียว ไม่ใช่สองชั้น (Tier) แบบต่างจังหวัดที่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็น อปท.ชั้นบน โดยมีเทศบาลดูแลส่วนพื้นที่เมือง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดูแลพื้นที่ชนบท เป็น อปท.ชั้นล่าง กทม.ไม่มีนายอำเภอ ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่มีผู้นำชุมชนในแต่ละชุมชน ผู้ว่าฯ กทม. หรือ ผู้บริหาร กทม. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนที่ต้องรายงานขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.)
ระบบการบริหาร กทม.แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ “สำนัก” และ “เขต” 50 เขต แต่เดิมปี 2532 สมัยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ มีนโยบายแบ่งเขตปกครองเพิ่มจาก 32 เขต เป็น 36 เขต โดยมีผู้อำนวยการเขต (ผอ.เขต) เป็นข้าราชการใน กทม.ที่ผู้ว่าฯ กทม.แต่งตั้ง เขตคือ “สาขา” ของสำนักต่างๆ สำนักเปรียบเหมือนกระทรวง/กรมย่อยๆ ที่อยู่ที่ส่วนกลางของ กทม. (อยู่เสาชิงช้าและดินแดง)
สมาชิกสภา กทม. (ส.ก.) เปรียบเหมือน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของแต่ละเขต เขตละไม่ต่ำกว่าหนึ่งคน เว้นแต่มีจำนวนประชากรเกิน 50,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มอีก 1 คน รวมทั้งหมด 61 คน ปัจจุบันกฎหมายแก้ไขใหม่ พ.ศ.2562 กำหนดสมาชิก ส.ก.เขตที่ประชากร 150,000 คน ให้มี ส.ก. 1 คน ตามฐานประชากรเดิมปี 2553 ประชากร 5,701,394 คน จะมี ส.ก.ได้เพียง 38 คน สภา กทม.มีหน้าที่เหมือนสภาใหญ่ ส.ส. คือติดตามการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. และอนุมัติงบประมาณ
ตามประกาศ คสช. ที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวได้แต่งตั้ง 30 ส.ก.จาก 50 เขตแยก 6 กลุ่มเขต เขตละ 5 คน แบ่งเป็น (1) กรุงเทพกลาง (2) กรุงเทพใต้ (3) กรุงเทพเหนือ (4) กรุงเทพตะวันออก (5) กรุงธนเหนือ (6) กรุงธนใต้ โดยคัดแยกจากพื้นที่ที่ ส.ก.แต่ละคนอยู่ในภูมิลำเนานั้น หรือใกล้เคียง
ส่วนในระดับเขตมีสภาเขต และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีบทบาทมาก เป็นเพียงคณะให้คำปรึกษา ผอ.เขต ไม่มีอำนาจตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณ แต่เขตหนึ่งมี ส.ข.หลายคน อย่างน้อยเขตละ 7 คน ซึ่งต่อมาได้มีการยกเลิก ส.ข.ทั้งหมด
ทำไม กทม.ต้องยุบสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)
ผู้อำนวยการเขตถูกกำกับโดยผู้ว่าฯ กทม.แต่ผู้ว่าฯ กทม.จะถูกตรวจสอบโดย ส.ก. และ ส.ข.อีก ทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำงาน การเล็งแก้กฎหมาย ยกเลิก ส.ข.เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2560 เพราะ ในการทำงานนั้น ส.ข.ถือเป็นตีนเป็นมือของ ผอ.เขต เพราะเป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต
ตามประกาศ คสช. ที่ 85/2557 ได้ยุบ ส.ข. และแต่งตั้ง ส.ก.ใหม่ทั้งหมด โดยไม่เอาคนเก่ามาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเหมือนเช่น อบจ. เทศบาล และอบต. เพราะเบื้องลึกมีข้อครหาว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นที่สรรหามาไม่โยงยึดกับประชาชน และข้าราชการประจำปฏิบัติหน้าที่นายกลุแก่อำนาจ
มีผู้ไม่เห็นด้วยที่ให้ยุบเลิก หรือให้ระงับเลือกตั้ง ส.ข. เหลือแต่ ส.ก. ตามกฎหมายฉบับ พ.ศ.2562 มาตรา 24 ระบุถึง สภาเขต คุณสมบัติสมาชิกสภาเขต การเลือกตั้ง และอำนาจหน้าที่ของสภาเขต เท่ากับว่า ตาม พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขล่าสุด พ.ศ.2562 จะยังไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.จนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยแนวคิดการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ข. มาจากข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
หากเทียบกับ อปท.รูปแบบอื่น กทม. มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วน ส.ข. มีอำนาจหน้าที่เพียงให้ข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับแผนพัฒนาเขตต่อผู้อำนวยการเขตและสภากรุงเทพมหานคร กทม.มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2556 และ ส.ก. ส.ข.เมื่อปี 2553 ต่อมาปี 2557 คสช. มีการแต่งตั้ง ส.ก.ใหม่ ปี 2559 มีการปลดผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ และปี 2562 ให้ยกเลิก ส.ข.
ปฏิรูป กทม.ก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป
มีการเปิดประเด็น กทม.มาตั้งแต่ปี 2563 ว่า “การเมืองการปกครองของ กทม. ควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป” ซึ่งอาจ (1) ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส.ก. และ ส.ข.โดยเร็ว แต่ ส.ข. อาจยังไม่เลือก เพราะแก้กฎหมายไม่ทันหรือ (2) ให้มีการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ กทม.ใหม่ทั้งหมดเสียก่อน หรือ (3) ให้ทำการเลือกตั้งและปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน เพราะ กทม.มีปัญหาด้านการเมืองและการบริหารมากมายที่ต้องรีบแก้ไข
ปัญหาภายในของการบริหาร กทม.คือความไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเรื่อง สาธารณูปโภค ตำรวจ ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ การสั่งการ ผู้ว่าฯ กทม.สั่งการไม่ได้เหมือนผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แต่เพียงประสานงาน การบริหารจึงขาดประสิทธิภาพ อำนาจผู้ว่าฯ ทำอะไรไม่ได้มาก แต่หลังจากเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ทำให้มองเห็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.ในการแก้ไขปัญหาขึ้นมามาก แต่หากดูโครงสร้างการบริหารและการเข้าไปแก้ไขปัญหาทั่วไปเปรียบเทียบงานของกทม.กับท้องถิ่นอื่น เห็นว่าคล้ายกันแต่ กทม.ซับซ้อนและใหญ่กว่ามาก ปัญหา กทม.มีมากกว่า เป็นปัญหาไมโครมากกว่า นอกจากนี้ความเป็นเมืองใหญ่จุดศูนย์กลางความเจริญ กทม.จึงมีประชากรแฝงมาก
ปลายปี 2564 มีกระแสนักวิชาการหนุน เรียกร้อง“ฝ่ายประชาธิปไตย” ให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จึงเริ่มมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นหลายคน ซึ่งต่างฝ่ายต่างลุยหาเสียงกันโดยไม่ทราบวันเลือกตั้งที่แน่ชัด
ฝ่ายอำนาจรัฐยังคงปิดบัง เฉย ไม่บอกแผนการพัฒนาทางการเมือง กทม. และการเลือกตั้งอย่างเต็มปากเต็มคำ ด้วยอ้างรอผลการเลือกตั้ง อบต. อ้าง รอ กกต. อ้าง รอกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ข. ซึ่งข้ออ้างไม่สมเหตุผลนัก เพราะรอกันมานานมาก นานกว่าวาระการดำรงตำแหน่งตามกฎหมายของสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.ผถ.)ที่มีคือวาระเกินกว่า 4 ปีมานาน
สารพัดปัญหาเรื้อรังของกรุงเทพมหานคร
ปี 2556 กทม.มี 10 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข (1) จราจร ต้องพึ่งระบบ Mass Transit (2) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน “จัดโซนนิ่ง ลดจี้-ปล้น วางระบบวงจรปิด ป้องปราม” (3) การจัดการน้ำ และภัยพิบัติ “ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่ต้องเร่งแผนเพิ่มระบบระบายน้ำ (4) ผังเมือง “กรุงเทพฯ ยังไม่เป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียวน้อยไป” (5) พื้นที่สีเขียวคุณภาพชีวิตคนกรุง “กทม.มีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรต่อคน” (6) ธรรมาภิบาล ปัญหามีเพราะการเมืองมายุ่ง (7) ขยะ ขยะล้นกรุง หมื่นตันต่อวัน รอผู้ว่าฯคนใหม่สานต่อปัญหา (8) หาบเร่-แผงลอย “กทม.โอด หาบเร่-แผงลอย ปัญหาโลกแตก” (9) ความพร้อมสู่เออีซี AEC กทม.ยังต้องพัฒนาคน และโครงสร้างพื้นฐาน (10) ท่องเที่ยว เสริมสร้างจุดแข็งของกรุงเทพฯเมืองท่องเที่ยว แต่ผลสำรวจความคิดเห็นปัญหา (2556) ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้แก้มี 5 ปัญหาหลัก ได้แก่ (1) ปัญหาขยะ เช่น ขยะมาก กลิ่นขยะเหม็น (2) ปัญหาการจราจรติดขัด (3) ปัญหาแหล่งมั่วสุม การพนัน ยาเสพติด (4) ปัญหาถนนชำรุด ถนนแคบ และ (5) ปัญหาน้ำท่วมขังตามถนนและซอย เพราะท่อตันสิ่งก่อสร้างไหลลงท่อ น้ำไหลช้า
นับแต่ปี 2559 กทม. ประสบปัญหาใหญ่เข้าใกล้ภาวะอัมพาต เพราะเมืองเริ่มมีขนาดใหญ่เกินการจัดการ ตามนโยบายพัฒนาเมืองของภาครัฐที่เน้นพัฒนาเมืองใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาเมืองตามมา อาทิ ปัญหาที่อยู่อาศัย กทม.คือตัวอย่างที่ดีของเมืองที่เลวที่สุดในโลก ฝนตกเกิน 60 มม. จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นปัญหามาถึงปัจจุบันพื้นที่จุดเสี่ยง ระบบระบายน้ำ สะท้อนปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ระบายไม่ทัน มีน้ำท่วมขังในหลายๆ พื้นที่ เช่น พื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ-ทุ่งครุ เพราะระบบผังเมืองที่ไร้การควบคุม ปี 2564 กทม.ลงทุนปรับปรุงอัพเดต 4 อุโมงค์ยักษ์ และจะก่อสร้างเพิ่มเติมอุโมงค์ยักษ์อีก 6 แห่ง ทุ่มงบประมาณเสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรสูง 2.5-3.5 เมตร
นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น เช่น ทางเท้าชำรุด ไม่ได้รับการแก้ไข ป้ายโฆษณาเกะกะกีดขวางทางเท้า ปัญหาวิกฤติโลกร้อนที่จะก่อปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น ปัญหาดินกรุงเทพฯ เสี่ยงทรุดตัวปีละ 1-2 ซม. ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนปัญหาการจัดการทั้งนั้น เป็นสิ่งท้าทายแก่ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะอาสาเข้ามาแก้ไข เพราะมีการเปรียบปัญหาเหมือน “เส้นเลือดฝอย” ที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาไปจากจุดเล็กๆ
ด้วยอำนาจที่หอมหวนเพราะอำนาจหากอยู่ส่วนกลางก็จะสั่งการและควบคุมง่าย นายทุน เผด็จการ และรัฐข้าราชการชอบมีทั้ง (1) สืบทอดอำนาจ (2) เปลี่ยนขั้วอำนาจ (3) ยึดอำนาจถาวร (4) เปลี่ยนแปลงอำนาจอันเป็นที่ปรารถนาของนักการเมือง “ฝ่ายอำนาจนิยม” ทั้งหลาย ที่มักคิดถึงอำนาจที่มาก่อนประชาชนเสมอ การมีอำนาจ แต่ไม่คิดพัฒนาบ้านเมืองก็เท่ากับการทำร้ายประเทศ ทำให้ประเทศเสียโอกาสเสียดุลต่างๆ ต้องมีการจัดการแก้ไขที่ “ต้นเหตุ” ข่าวการล่าชื่อรณรงค์ข้อเสนอให้ยุบราชการส่วนภูมิภาคและกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในระยะ 10-15 ปี หากไม่เริ่มทำวันนี้ ก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นแน่ “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน”