สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดส่วนใหญ่ จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้น ส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน ยางมะพลับหรือรักที่ลงนั้นจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำอมแดงไม่ดำสนิททีเดียว มีผู้ถามกันมามากมายว่า "เบี้ยแก้" คืออะไร และใช้ทำอะไร แต่ที่ยากกว่านั้น ก็คือ ดูยังไงจึงจะได้ของแท้ ? ซึ่งในความจริงแล้ว เบี้ย ก็คือ เปลือกหอยทะเลประเภทหนึ่ง ซึ่งพ่อค้าชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียนิยมนำมาใช้แทนเงินตราสมัยโบราณ นัยว่า มีความสวยงาม หายาก และคงทน ส่วนใหญ่ที่ใช้กันในบ้านเรา พ่อค้าจะนำมาจากหมู่เกาะมัลดีฟส์ (Maldives) อันเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่ ซึ่งเกิดจากแนวปะการังอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของศรีลังกา ตอนปลายๆ ของคาบสมุทรอินเดีย โบราณาจารย์มักนำหอยเบี้ยมาจัดสร้างขึ้นเป็น “เบี้ยแก้อาถรรพ์” เพื่อป้องกันคุณไสยและภัยพิบัติต่างๆ ลักษณะของหอยที่จะนำมาจัดสร้างนั้น ต้องมี หลังนูน ท้องเป็นร่อง เปลือกแข็ง ซึ่งคนรุ่นก่อนเรียกว่า "เบี้ยจั่น" หรือ "เบี้ยพู" เบี้ยแก้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในบ้านเราก็คือ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ธนบุรี ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในเบญจภาคีประเภทเครื่องรางของขลังครับผม หลวงปู่รอด เป็นชาวบ้านบางพรม อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี อุปสมบท ณ วัดเงิน หรือ วัดรัชฎาธิษฐาน ที่คลองบางพรม อันเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสนากรรมฐานฝ่ายอรัญวาสี ต่อมาย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรง จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ของวัดนายโรง ด้วยความที่ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระในระดับสูง และเป็นที่เลื่องลือด้านคุณวิเศษทางพุทธาคมและวิทยาคม จึงได้รับการนับถือในแถบย่านคลองบางกอกน้อย ท่านยังเป็นพระคณาจารย์ร่วมสมัยกับ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูงอีกด้วย เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด จะใช้วัตถุอาถรรพ์ต่างๆ เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ เบี้ยพู ปรอท ชันโรงใต้ดิน (เป็นสัตว์ตระกูลผึ้งนำรังมาใช้ผสมสร้าง) นอกจากนี้ยังมี แผ่นตะกั่วทุบ ซึ่งท่านได้นำวัตถุทั้งหมดมาปลุกเสกลงอักขระขอมโบราณ กำกับด้วยพระคาถา "พระเจ้า 16 พระองค์" และ "คาถาตรีนิสิงเห" เมื่อเสร็จพิธีก็จะมอบให้กับศิษยานุศิษย์พกติดตัว คุณลักษณะของเบี้ยแก้หลวงปู่รอด มีดังนี้ - ท่านมักจะคัดตัวเบี้ยที่มีขนาดไล่เลี่ยกันและเลือกตัวสมบูรณ์ตามสูตรโบราณ คือ มีฟันเบี้ยครบ 32 ซี่ เหมือนมนุษย์ - หากนำเบี้ยแก้มาสั่นฟังข้างๆ หู จะมีเสียงดังคลิกเบาๆ อันเป็นเสียงของปรอทที่บรรจุไว้ภายใน - ใต้ท้องเบี้ยจะต้องมีรังชันโรงใต้ดินปิดและเกาะติดแน่น อยู่ในสภาพเก่าและแห้ง - เบี้ยแก้ส่วนใหญ่จะหุ้มด้วยแผ่นตะกั่วทุบทั้งลูก มีบ้างบางตัวอาจเปิดด้านหลังเบี้ยไว้ หรือบางตัวอาจไม่มีแผ่นตะกั่วหุ้มก็มี - หากมีแผ่นตะกั่วหุ้ม จะมี “อักขระเลขยันต์” เรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูความเก่าให้ออกตามวันเวลากว่า 100 ปี ประการสำคัญ เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดส่วนใหญ่ จะถักเชือกหุ้มทับเอาไว้ มีทั้งหุ้มปิดหลังเบี้ยและเปิดหลังเบี้ย เบี้ยที่ถักเชือกหุ้มนั้น ส่วนมากจะทายางลูกมะพลับ บ้างลงรัก หรือชุบรักเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อความคงทน ยางมะพลับหรือรักที่ลงนั้นจะมีลักษณะแห้ง มีความเก่า มีสีดำอมแดงไม่ดำสนิททีเดียว หากมีการลงรักปิดทองให้สังเกตความเก่าของรักกับทองให้เป็น และเบี้ยแก้ของท่านนั้น ปรากฏทั้งแบบมีห่วงและไม่มีห่วง บางตัวยังทำพิเศษบรรจุตะกรุดเอาไว้ด้วย เรียกว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีกครับผม