ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ อย่าง โอไมครอน ที่ซึ่งเวลานี้ระบาดครั้งใหม่ไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก จนส่งผลต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง เตรียมเสนอพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เพิ่ม ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา กล่าวว่า ในวันที่ 7 มกราคมนี้ ทาง ศบค.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวหรือ แซนด์บ็อกซ์ เพิ่มเติม หลังมติ ศบค.เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ได้ระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์เป็นการชั่วคราว ยกเว้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการเข้ามาแบบกักตัว โดยรายชื่อพื้นที่ที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาจะนำเสนอให้ ศบค.พิจารณาเป็นแซนด์บ็อกซ์เพิ่มเติมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกาะ ซึ่งง่ายต่อการควบคุมโรคและดูแลการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1.จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) 2.จังหวัดชลบุรี (เกาะล้าน) 3.จังหวัดระยอง (เกาะเสม็ด) 4.จังหวัดตราด (เกาะช้าง และเกาะกูด) 5.จังหวัดพังงา (เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ไม่รวมเขาหลัก) และ 6.จังหวัดกระบี่ (เช่น เกาะพีพี) ซึ่งจะพิจารณาให้นักท่องเที่ยวเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) เช่น เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต ก็สามารถต่อเรือตรงเข้าเกาะพีพีได้ทันที อีกทั้งทางกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ยังเตรียมเสนอไปยัง ศบค.ในกรณีที่สถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนไม่เกิดการระบาดซ้ำรุนแรง ก็จะขอให้ปลดล็อกการระงับลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร Test & Go ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2565 โดย นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ได้คาดการณ์ช่วงกลางปี 2565 ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 5-15 ล้านคน แต่จะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความเป็นไปได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยในกรณีเดินทางเข้ามา 5 ล้านคน หลักๆ จะมาจากตลาดยุโรป รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และถ้าเป็นกรณี 7 ล้านคน จะรวมตลาดอินเดียไปช่วยเสริม ส่วนกรณี 9 ล้านคน จะมีตลาดจีน ทั้งนี้จะต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง และถ้าเป็นจำนวน 15 ล้านคน ก็จะรวมเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ คือ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศไทยสามารถเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวดังกล่าวได้ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วยได้ ด้าน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปี 2564 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.84 แสนล้านบาท ลดลง 21% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม 4.82 แสนล้านบาท แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 4 แสนคน สร้างรายได้ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดคนไทยเที่ยวไทยทั้งปีมีการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 90 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท โดย ในปี 2565 ทางททท.ยังตั้งเป้าสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในภาพรวมประมาณ 50% ของรายได้ที่เคยทำได้ในปี 2562 ซึ่งจะอยู่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท โดยตลาดไทยเที่ยวไทย เกิดจากคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้เหมือนเดิมเพราะการระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ ซึ่งความเชื่อมั่นถึงความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลผ่านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่หลากหลาย โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่กระตุ้นให้คนออกเดินทางได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการทำตลาดของโรงแรมระดับบน ส่งผลให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของตลาดต่างประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น การกลับมาระบาดซ้ำของโควิดโดยเฉพาะสายพันธุ์ โอมิครอนในประเทศต้นทางที่ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวเข้าไทย เช่น ยุโรป อเมริกา รวมถึงประเทศต้นทางอื่นๆ ที่เคยเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก หลายประเทศยังคงปิดประเทศและมีความเข้มงวดเรื่องของสาธารณสุข เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19