นายสุภา ตาแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านป่าก่อ หมู่ที่ 10 ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ได้เล่าถึงสภาพพื้นที่ ในทุกช่วงฤดูฝนจะมีน้ำจากร่องห้วยตามธรรมชาติไหลลงมาสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขาก่อนไหลรินไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก เมื่อมีปริมาณน้ำมากก็จะถาโถมลงมาแรงกระทบแนวป่าชะล้างหน้าดิ จนก้อนหินน้อยใหญ่โผล่ปรากฏ หากแต่เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งสายน้ำตลอดสองข้างแนวเขาก็จะแห้งผาก คงมีแต่วัชพืชที่ขึ้นมาปกคลุมอย่างหนาแน่นแทน
หลายปีผ่านไปวงจรธรรมชาติเกิดขึ้นซ้ำเดิมเช่นนี้ พร้อมกับธรรมชาติที่เสื่อมโทรมลงทุกปี นายสุภา ตาแก้วผุดแนวคิดการชะลอน้ำเพื่อจะเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ก่อนปล่อยลงมาใช้ประโยชน์ ทุกคนเห็นด้วย แต่หมดปัญญาเพราะต้องใช้ทุนมาก ชาวบ้านไม่มีเงินทุน เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ฐานะค่อนข้างยากจน ในที่สุดนายสุภาจึงได้เขียนจดหมายขอพระราชทานความช่วยเหลือทันที
เมื่อความทุกข์ร้อนของชาวบ้านถึงพระเนตรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 และด้วยพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่ากล้วย หมู่ที่ 10 และโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยกอลุง หมู่ที่ 3 ต.ตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน จึงเกิดขึ้น โดยในปี 2561 สำนักงาน กปร.ได้สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามความต้องการของราษฎร และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา จากนั้นเริ่มเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 พร้อมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดลงอ่าง นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รวมกันจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมโครงการฯ พบว่าโครงการสามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ได้ถึง 700 ไร่ ราษฎร 225 ครัวเรือน จำนวน 780 คน มีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ เช่น ลำไย มะม่วง กล้วย ข้าว ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต.ตะเคียนปมก็ได้รับผลกระทบไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังสามารถอยู่ได้จากพืชผักที่ปลูกไว้บริโภค และมีปลาหลากหลายชนิดจากอ่างเก็บน้ำ ยังผลให้ทุกคนมีอาหารโปรตีนเพียงพอในการบริโภคตลอดช่วงที่มีการปิดหมู่บ้าน โอกาสนี้ องคมนตรีได้สอบถามถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรค และแนวทางการดำเนินชีวิตในครั้งนี้ด้วย




