ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังท้องถิ่นไท ได้ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐ” ถึงมุมมองในการพัฒนาท้องถิ่นในปี 2565 ตลอดจนนโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับส่วนท้องถิ่น ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า ในปี 2565รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับท้องถิ่น ที่ชัดเจนว่า การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รัฐบาลคิดอย่างไร หรือจะทำอะไร ซึ่งการแก้ไขนโยบายต่างๆนั้นจะต้องคิดทำ 2 เรื่อง 1.คิดในเชิงการแก้ไขกฎหมาย หรือพัฒนากฎหมายให้ท้องถิ่นมีความแข็งแรงขึ้น มีการเติบโต มีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลต้องคิดในการเรื่องการพัฒนากฎหมาย หรือปรับปรุงกฎหมายเดิมให้มการพัฒนาเพื่อเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นมากขึ้น รัฐบาลต้องกล้าที่จะแก้กฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ท้องถิ่นเพื่อให้เขาได้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ยกตัวอย่างเช่น พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่นและกำหนดรายได้ของท้องถิ่น กำหนดให้คณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ออกแบบ ทบทวน คำสั่ง หรือประกาศต่างๆ หรือแม้แต่การถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น จากส่วนราชการให้กับส่วนท้องถิ่น ภารกิจที่ซ้ำซ้อน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ อยู่ในพรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ กฎหมายกำหนดแผนฯต้องมีการแก้ไข ทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องมาดูว่ามันมีอำนาจจริงหรือไม่ หรือมันมีอำนาจที่ซ้อนทับอยู่กับอำนาจของส่วนราชการ “ผมคิดว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ใส่ใจในการจัดสรรอำนาจระหว่างส่วนราชการของรัฐบาล กับส่วนท้องถิ่นมากนัก ไม่ได้จัดสรรว่าส่วนกลางทำอะไร จะลดบทบาทส่วนกลางอย่างไร ผมว่านี่เป็นภารกิจของรัฐบาลที่ต้องทำในปีหน้า ว่าตกลงส่วนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีอำนาจทำอะไร และให้ท้องถิ่นมีอำนาจและบทบาททำอะไร ตามกฎหมายกำหนดแผนอย่างไร ยังมีความซ้ำซ้อนในเชิงกฎหมายระหว่าง รัฐาบาลกลาง ส่วนราชการและท้องถิ่น อยู่เกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรืองของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องสวัสดิการสังคม เรื่องท่องเที่ยว เรื่องการบรรเทาสาธารณภัย โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม ไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้จึงมีปัญหา” ดร.โกวิทย์ กล่าวว่า ความซ้ำซ้อนของภารกิจของรัฐบาลกับภารกิจของท้องถิ่นทำให้เกิดปัญหา มีปัญหากับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีการตรวจสอบว่าท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่แค่ไหนในสิ่งที่ทำ เพราะฉะนั้นการจัดสรรอำนาจให้ลงตัวก็ต้องมีการแก้กฎหมาย การแก้กฎหมายต้องทำโดยสภาฯ เช่น กฎหมายจัดตั้ง กฎหมายกระจายอำนาจฯ อย่างนี้ต้องแก้ แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำคู่กันคือต้องไปแก้กฎหมายของส่วนราชการด้วย ว่าจะให้อำนาจใคร ยกตัวอย่างเรื่องของสาธารณสุข เรายังมีกฎหมาย พรบ.สาธารณสุข ขณะที่ในกฎหมายให้ท้องถิ่นทำเรื่องสาธารณสุข การอนามัย การป้องกันโรค มันยังมีเรื่องที่ทับซ้อนกันอยู่ แต่ว่าเรื่องพวกนี้เมื่อก่อนมีการแก้ไขโดยการถ่ายโอนภารกิจ ถ้าส่วนราชการยินยอมให้ถ่ายโอนมาให้กับท้องถิ่น แต่การถ่ายโอนมันมีปัญหาว่าส่วนราชการมักมีการถ่ายโอนแค่ภารกิจ เขาก็เลยโวยวายว่าการถ่ายโอนต้องถ่ายโอนงบประมาณกับบุคลากรมาด้วย ตรงนี้รัฐบาลต้องเคลียร์ว่าจะถ่ายโอนภารกิจอย่างไร เพราะที่ผ่านมามันเป็นไปโดยล่าช้า อีกส่วนหนึ่งคือการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นที่เป็นสัดส่วนรายได้ 35% ซึ่งได้เคยมีในกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ พ.ศ.2542 แต่ไปแก้ให้ไม่มีระยะเวลา ว่าจะครบ 35% เมื่อไหร่ รัฐบาลต้องกล้าที่จะบอกว่าต่อไปนี้รัฐบาลต้องให้เงินกับท้องถิ่นเป็นสัดส่วนรายได้ระหว่างรัฐกับท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 35% ภายในปีไหนก็ว่าไป ให้ไปแก้ในกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ เป็นภาระที่จะต้องทำในปีต่อไป นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่ยังค้างคาอยู่ ที่เสนอเข้ามาแล้วรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจนัก คือเรื่องเมืองพิเศษ หรือเขตปกคองพิเศษ ซึ่งปัจจุบันเมืองพิเศษมีแค่ กทม. กับเมืองพัทยา แต่จะทำให้มันมากกว่า กทม. และเมืองพัทยา พื้นที่หลายพื้นที่ต้องการเป็นเมืองพิเศษ เพราะเขามีพื้นที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ เช่นเมืองท่องเที่ยวเกาะสมุย ซึ่งเคยเสนอเป็นเมืองพิเศษเพราะมีกฎหมายเมืองพิเศษอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งแม่สอด ที่เป็นเมืองชายแดน หรือแหลมฉบัง หลายเมืองรัฐบาลควรใส่ใจพัฒนาเขาให้มีศักยภาพ ความเป็นเมืองพิเศษจะทำให้เขาเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ สามารถจัดการตนเอง สามารถหารายได้ พัฒนาไปตามแนวความคิดของคนในเมืองพิเศษนั้นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาตัวเองได้อีกมาก ดังนั้นในปี 2565 รัฐบาลต้องมาปัดฝุ่นทำให้เป็นเชิงนโยบายของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีกฎหมายส่งเสริมรายได้ตามรัฐธรรมนูญ คือการพัฒนารายได้ของท้องถิ่นมันถูกละเลยมาก เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะพัฒนารายได้ของท้องถิ่น ให้เขาสามารถยืนอยู่ได้ คือยังมีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายที่ลดทอนระบบภาษีของท้องถิ่นลงไป แล้วยิ่งมีโควิดยิ่งทำให้ถูกลดทอนภาษี ถึง 90% เขาเก็บได้แค่10% ทำให้ท้องถิ่นขนาดเล็กตายเรียบ เพราะไม่สามารถเก็บภาษีได้ เพราะรัฐบาลไปลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แทนที่จะให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น กลับทำให้มีรายได้ลดลง กระทบกับแผนงานที่เขาวางไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คิดว่ารัฐบาลต้องมาสนใจตรงนี้และไปทำกฎหมายพัฒนารายได้ท้องถิ่น ปีใหม่เป็นปีที่รัฐบาลน่าจะคืนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ลดอำนาจภาครัฐลงไป แล้วก็ไปทำในเชิงการพัฒนากฎหมาย ผลักดันเรื่องการถ่ายโอนภารกิจ หรือการจัดสรรภารกิจให้ลงตัว ส่วนที่ 2 อยากเรียกร้องรัฐบาลทบทวนการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ในปี 2565 คือการตั้งสติและมีคำถามเพื่อหาคำตอบว่า รัฐส่วนกลางควรลดอำนาจภาครัฐลงบ้างหรือไม่ เพื่อกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น ทำงานแทนรัฐบาลกลาง ทำงานทดแทนภารกิจภาครัฐในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชน การเปลี่ยนมุมแบบนี้รัฐบาลต้องมาทบทวนว่าการกระจายอำนาจจะเป็นหุ้นส่วนสำคัญช่วยรัฐบาลในการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ไปหรือไม่ ให้ท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศหรือไม่ นี่เป็นคำถามในปี 65 ที่รัฐบาลต้องเปลี่ยนมุมในการพัฒนาประเทศใหม่โดยใช้ท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ เรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ที่เรายังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล เพราะรัฐบาลยังมองเรื่องการรวมศูนย์อำนาจเป็นปัจจัยหลักอยู่ แต่รัฐบาลไม่มองว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นการช่วยแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล ช่วยทำงานแทนรัฐบาลเพราะท้องถิ่นรู้ข้อมูล รู้ปัญหา รู้เรื่องต่างๆในชุมชนท้องถิ่นอย่างดี อย่างเรื่องโควิดให้ท้องถิ่นจัดการในการป้องกัน ยับยั้ง ในการเยียวยาช่วยเหลือ รัฐบาลน่าจะโอนเงินส่วนหนึ่งมาให้กับท้องถิ่น โดยระบุให้ชัดเจนว่าจะให้เขาช่วยเหลือเรื่องอะไร ทำอะไร ไม่ใช่ให้มาทำโน่นทำนี่ แล้วไม่ให้อะไรมาสักอย่าง รัฐบาลจะถึงทางตันหากมาทำงานอยู่ฝ่ายเดียว ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของประชาชน ปัญหาของการกระจายอำนาจฯประชาชนต้องตื่นรู้ และตระหนักว่าการกระจายอำนาจเป็นทางออกของประเทศ ทำให้พี่น้องประชาชนแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะว่าการกระจายอำนาจทำให้ข้อมูลของประชาชนถูกสะท้อน ปัญหาถูกสะท้อนให้ท้องถิ่นไปแก้ ให้รัฐบาลเห็นว่าท้องถิ่นรู้ปัญหารู้ข้อมูลที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ประชาชนต้องเรียนรู้ว่าเขาเป็นเจ้าของอำนาจในท้องถิ่น เขาเป็นเจ้าของที่ต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงาน กำหนดนโยบายเพื่อตอบโจทย์พี่น้องประชาชน วิธีคิดแบบนี้จะลดความเหลื่อมล้ำได้ ให้ท้องถิ่นไปอุดช่องโหว่เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาก็จะถูกพัฒนาโดย ความต้องการของประชนที่มีส่วนร่วมในงานของท้องถิ่น “ในส่วนของพรรคพลังท้องถิ่นไทย ในปี 65 ที่พรรคจะทำคือเรื่องบุคลากรท้องถิ่น เราให้ความสำคัญเรื่องบุคลากรท้องถิ่น เพราะว่าบุคลากรท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนงานฝ่ายบริหารของท้องถิ่น นโยบายพรรคคือจะแก้ไขพรบ. ระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น พ.ศ.2542 ผมกำลังรับฟังความคิดเห็นคนท้องถิ่นว่ากฎหมายบุคคลของท้องถิ่นควรจะแก้เพื่อประโยชน์ของคนท้องถิ่นได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้มองว่ากฎหมายบุคคล ระเบียบกฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่นมันถูกรวบอำนาจโดยกระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตำแหน่ง การสอบ การบริหารงานบุคคล หรือการดูแลความเป็นธรรมในท้องถิ่นต่างๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องของจริยธรรม หรือทำให้มีกฎหมายระบบพิทักษ์คุณธรรม เหล่านี้ยังไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องที่ชัดเจน ปีใหม่นี้ผมจะเสนอ พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลที่จะไปแก้ไขพรบ.เดิม ปี2542 จะยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร นี่คือแนวทางของพรรคเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ชัดเจน” ดร.โกวิทย์ กล่าว +++++++++++++++