“นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์” แผนการวิจัย การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กรอบการวิจัย Local Enterprise ประจำปี 2563 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
นำทีมการวิจัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ชลสาคร คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์ และ ดร.รัฐ ชมภูพาน ผู้ร่วมวิจัย
ดร.ชนากานต์ เรืองณรงค์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วารุณี อริยวิริยะนันท์ เผยว่า ไผ่ จัดเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ชุดโครงแผนการวิจัยการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) บนฐานทรัพยากรไผ่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อต่อยอดศักยภาพของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Network Value Chain) ให้เกิดการจัดการห่วงโซ่คุณค่าใหม่ พัฒนากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์และการบริการจากไผ่ให้เป็นสินค้าอัตลักษณ์ ได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยการใช้นวัตกรรมและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ไผ่ที่เป็นทรัพยากรพื้นถิ่น
ผศ.ดร.สาคร ชลสาคร
แผนงานนี้ประกอบด้วย โครงการวิจัยทั้งสิ้น 5 ชุดโครงการ (22 โครงการย่อย) โดย “นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์” โครงการย่อย ในชุดโครงการที่ 1 นวัตกรรมจากขยะไผ่ การบูรณาการกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมระหว่างบริษัท พิมธา จำกัด วิสาหกิจชุมชนและเกษตรตำบลโนนห้อม อำเภอเมือง จ.ปราจีนบุรี บริษัทก้องเกียรติเท็กไทล์ จำกัด และ มทร.ธัญบุรี เพื่อสร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ที่เหมาะสม ในชุมชนให้เกิดเป็นห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและยั่งยืน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สาคร ชลสาคร เผยว่า นวัตกรรมผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่ ในผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ทางการแพทย์ มุ่งเน้นนำเศษขยะจากบริษัทมาพัฒนาให้เกิดมูลค่า จากการทำชิ้นงานทำให้เหลือเศษไผ่จำนวนมาก แบ่งออกเป็น 3 ขนาด ขนาด A ลักษณะเป็นผง ขนาด B ลักษณะเป็นเส้นใยและสวย ส่วนขนาด C ลักษณะเส้นใหญ่ แข็งนำมาใช้ในงานสิ่งทอค่อนข้างยาก ส่วนขนาด A ทางอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำไปต่อยอด การผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดกลวงจากผงไผ่เหลือทิ้ง ซึ่งขนาด B มีลักษณะเหมาะกับงานทางด้านสิ่งทอ เมื่อได้ขนาดที่ต้องการได้ร่วมมือกับทางบริษัทในการพัฒนาเครื่องแยก โดยได้รับความร่วมมือกับทางชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเครื่องแยกเส้นใยไผ่
ดร.รัฐ ชมภูพาน
เมื่อได้เส้นใยดังกล่าวนำมาหมักด้วยน้ำและเอนไซม์ โดยศึกษาระยะเวลาเส้นใยที่เหมาะสม ทำการศึกษาระยะเวลา 2 วัน 4 วัน 6 วัน และ 10 วัน ผลจากการศึกษาพบว่า ระยะเวลา 10 วัน ได้เส้นใยมีลักษณะที่สวยและนุ่มที่สุด จากนั้นนำเส้นใยมาศึกษาคุณสมบัติการต้านแบคทีเรีย ตามมาตรฐาน AACC ปรากฏว่าเส้นใยที่ผ่านการหมัก 10 วัน มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียได้ 99 % ซึ่งตรงกับงานวิจัยของหลาย ๆ ท่านที่ได้กล่าวไว้ ใยไผ่สามารถต้านแบคทีเรียได้
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวผศ.ดร.สาคร จึงมุ่งเน้นงานวิจัยมาทางด้านการแพทย์ ได้ร่วมมือทางบริษัท พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยนำผ้าไม่ทอจากเส้นใยไผ่มาอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น จำนวน 2 ขนาด คือ ขนาดความบาง 1 เซนติเมตร และ 2.5 เซนติเมตร นำมาออกแบบ “ผ้ารองนอนให้กับผู้สูงอายุ” โดยผ้ารองนอนทำหน้าที่บุรองจากผ้าปูที่นอนอีกชั้นหนึ่ง ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากหรือผู้ป่วยติดเตียง ลดการติดเชื้อและลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ในส่วนของกลิ่นปัสสาวะหรือกลิ่นจากแผลกดทับ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ลดความเสี่ยงในผู้สูงอายุ ได้นำผ้ารองนอนให้กับผู้สูงอายุทดสอบในแล็ป จากการทดสอบดังกล่าวสามารถใช้งานจริง ขณะนี้ทาง มทร.ธัญบุรี ได้จดอนุสิทธิบัตร และนักศึกษาปริญญาโท คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์กำลังต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นมาใช้ทางด้านการแพทย์
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร.0-2549-3161