ฉบับนี้มาพูดถึง “พระ 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน” ที่มีจำนวนการสร้างมากถึง 2,421,250 องค์ แต่ก็ยังมีการทำเทียมมาก และค่อนข้างยากในการพิจารณา “ของแท้-ของเทียม” อยู่สักหน่อย ด้วยบล็อกแม่พิมพ์มีจำนวนมากครับผม
เริ่มที่เนื้อหามวลสาร พระ 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน ประกอบด้วยมวลสารมงคลจากโลหะหลายชนิดเป็นส่วนผสม อาทิ พลวง, ดีบุก, ตะกั่วดำ และ แผ่นเงิน, ทองแดง ที่พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณทั่วประเทศทำการลงอักขระเลขยันต์ มาแล้ว ยังมีชนวนหล่อพระในพิธีอื่นๆ พร้อมผงตะไบ “พระกริ่งนวโลหะ” ทั้งของสมเด็จพระสังฆราชแพ และท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ มาเป็นชนวนในการจัดสร้าง
ทั้งเนื้อหามวลสารอันศักดิ์สิทธิ์ พิธีปลุกเสกที่เข้มขลัง และมีพุทธคุณเป็นเลิศเป็นที่ปรากฏ สนนราคายังพอหาเช่าหาบูชาได้ จึงทำให้ ‘พระ 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน’ อยู่ในความนิยมไม่เสื่อมคลายมาจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้จะมีการจัดสร้างเป็นจำนวนมากถึง 2,421,250 องค์ แต่ก็มีของเก๊เกิดขึ้นตามมามากมายเช่นกัน
หลักการพิจารณาตำหนิแม่พิมพ์หลักๆ มีดังนี้
ด้านหน้า
- องค์พระจะมีพุทธศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม
- ปรากฏเส้นเชื่อมระหว่างขอบประภามณฑลกับพระอังสา (หัวไหล่) ด้านซ้ายองค์พระชัดเจน
- ขอบด้านหน้าจะเว้าลึกคล้ายแอ่งกระทะ
- ด้วยแรงกระแทกของเครื่องปั๊มสมัยก่อน จะส่งผลให้ผิวด้านหน้าขององค์พระตึงแน่นเป็นประกาย มองดูคล้ายเส้นรัศมีกระจายออกจากตัวองค์พระ เรียก “ฉัพพรรณรังสี”
- ที่ชายผ้าสังฆาฏิตรงพระอุทร (ท้อง) จะมีเส้นติ่งขีดขวางเส้นเล็กๆ และมีติ่งแหลมที่ขอบบัวริมบนสุดด้านซ้าย
- บางพิมพ์จะมีเส้นเล็กๆ ที่ข้อพระบาทขวายาวลงมาสองเส้น
ด้านข้าง
- เนื่องจากเป็นการปั๊มตัดด้วยเทคโนโลยีการปั๊มสมัยใหม่ช่วงปี 2500 ซึ่งสามารถกระแทกตัดโลหะได้แล้ว จึงเป็นการปั๊มตัดแบบเต็มใบมีด
- ให้สังเกตขอบข้างองค์พระเนื้อโลหะทั้งหมดจะไม่บางมาก และขอบข้างเหรียญจะหยาบๆ ไม่ละเอียดเหมือนของเทียม
ด้านหลัง
- จะเป็นรอยยิบๆ อันเกิดจากการกระแทกแม่พิมพ์
- ใน ‘ยันต์ใบพัด’ ตัวบนมีเส้นผ่ากลางลึกลงไปเล็กน้อยชัดเจน จุดนี้นับเป็นจุดสังเกตสำคัญ
- ยันต์ด้านหลังแม่พิมพ์จะมีเส้นเสี้ยนเป็นแนวขวางทแยงขึ้นชัดเจน
- ในร่องเส้นยันต์มีเส้นเสี้ยนหยาบๆ เช่นเดียวกับขอบข้างที่ไม่เรียบเหมือนของทำเทียมเช่นกัน
ซึ่งจากการจัดสร้างจำนวนมากๆ ดังกล่าวแล้วนั้น จึงทำให้มีบล็อกแม่พิมพ์มาก รวมทั้งมีการชำรุดของแม่พิมพ์ ส่งผลให้ตำหนิแม่พิมพ์ต่างๆ อาจคลาดเคลื่อนไม่เหมือนกันเป๊ะๆ แบบ 100% จนปัจจุบันมีการแบ่งแยกเป็นพิมพ์ต่างๆ กันเยอะแยะมากมาย แต่ที่ยึดเป็นหลักใหญ่จะแบ่งเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์มีเข็ม (นิยม) และ พิมพ์ไม่มีเข็ม ซึ่งเกิดจากรอยแตกในแม่พิมพ์ ‘เข็ม’ จะเป็นเส้นยาวอยู่กึ่งกลางใต้ฐานบัวและไม่ยาวเกินไป สนนราคาเล่นหาผิดกันค่อนข้างมาก
บอกได้เลยว่า สำหรับ พระ 25 พุทธศตวรรษ เนื้อชิน นี้ ขนาด “กูรู” ที่ว่าแน่ๆ ยังเคยโดนมาแล้ว ดังนั้น แนะนำว่าควรสังเกต ‘เนื้อขององค์พระ’ เป็นหลัก ให้เล่นเนื้อมันๆ วาวๆ เพราะดีบุกผสมตะกั่ว ดีกว่าเล่นเนื้อดำครับผม