ราษฎรบ้านกลาง ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ปรับเปลี่ยนที่นาปลูกข้าว ให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง หวังสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ทำประโยชน์ให้กับชุมชน ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า นายประเสริฐ จันทร์โอภาส ราษฎรบ้านกลาง หมู่ 7 ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เดิมพื้นที่ ของตนเอง ทำนามาก่อน แต่ปลูกข้าวได้ผลผลิตน้อย บางปีน้ำไม่พอเพียง อีกทั้ง มีแมลงศัตรูพืชรบกวน ทำให้ผลผลิตข้าว ไม่คงที่ ต่อมา จึงได้เข้าร่วมโครงการ พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล โคก หนอง นา โมเดล เกี่ยวกับการทำกสิกรรมธรรมชาติ โดยพื้นที่ของนายประเสริฐ จัทนร์โอภาส ได้จัดการพื้นที่ให้เหมาะกับการทำเกษตร ผสมผสานกับทฤษฎีใหม่ ให้เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ที่มีอยู่ อย่างเป็นระบบ ซึ่งในขณะนี้ กำลังมีการดำเนินการพัฒนาต่อยอด คือ การจัดทำฐานการเรียนรู้ระดับตำบล 9 ฐานเรียนรู้ เพื่อการพึ่งตนเอง ตามโครงการ ฯ ประกอบด้วย ฐานเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานเรียนรู้เรื่องกสิกรรมธรรมชาติ ฐานเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานเรียนรู้คนติดดิน ฐานเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานเรียนรู้คนมีไฟ ฐานเรียนรู้หัวคันนาทองคำ รวมถึงมีแผนการขับเคลื่อน เพื่อต่อยอดความสำเร็จ ขยายผล เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้กับชุมชน ส่งเสริมการแปรรูป สร้างสัมมาชีพ เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีรายได้อย่างยั่งยืน. โดยทาง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรมการพัฒนาชุมชน ทำการสนับสนุนดำเนินการปรับพื้นที่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ ทำหัวคันนาทองคำ และขุดคลองไส้ไก่ ในพื้นที่แปลง โดยได้รับความอนุเคราะห์ จากกองทัพไทย โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 ทหารพัฒนา ในการดำเนินการขุดปรับพื้นที่ ทั้งนี้ ทาง สนง.พช.แม่ฮ่องสอน ได้ดำเนินการ พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยได้ขับเคลื่อนแผนงาน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบลและระดับครัวเรือน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ด้วยการสนับสนุนวัสดุพื้นฐานและงบประมาณ และบูรณาการการทำงานจากภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ นายกฤชทร จงกล นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ได้เปิดเผยว่าการขับเคลื่อนโครงการในครั้งนี้ ขับเคลื่อนตามรูปแบบของกรมการพัฒนาชุมชน 7 ขั้นตอน ฝึกอบรมทักษะระยะสั้นตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ได้มีการอบรมไป 5 วัน เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เจ้าของแปลง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ มีการปรับปรุง มีการพัฒนาพื้นที่ โดยผ่านการทำกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ประกอบไปด้วย การปลูกต้นไม้ การเกี่ยวข้าว การทำกิจกรรม 9 ฐาน มีการทำน้ำยาล้างจาน การทำน้ำยาจุลินทรีย์บอล ทำแซนวิชปลา เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่ 3 มีการจ้างงานเกิดขึ้นในชุมชน และท้องถิ่นเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้การแปรรูปสินค้าทางการเกษตรตามวิถีอินทรีย์ของไทย มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นน้ำตาล สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน การพัฒนาระบบดิจิทัล เป็นการเรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยีระบบของโคก หนอง นา โมเดล สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน สำหรับโครงการดีๆ ให้กับเกษตรกรเจ้าของแปลง สนับสนุนให้มีการสร้างรายได้ ขอขอบคุณนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอำเภอเมืองทุกคนที่ทำงาน เป็นครูพาทำ ให้งานของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขับเคลื่อนได้อย่างประสบความสำเร็จ