เรื่อง : พุทธชาติ แซ่เฮ้ง “ ประเด็นไฮไลต์ คือ นายกฯ 8 ปี ซึ่งจะชี้ทิศทางการเมือง และทิศทางของพล.อ.ประยุทธ์ โดยกล่าวได้ว่า ปีเสือ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป. จะลงจากหลังเสือได้หรือไม่ หรือต้องอยู่บนหลังเสือต่อ หรือจะโดนเสือดุทำร้าย” หมายเหตุ : สถานการณ์การเมืองในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ร้อนแรงมากมาย หลากหลายประเด็น ทั้งการเคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ของกลุ่มต่างๆ การชุมนุมเรียกร้องให้ “รัฐบาลประยุทธ์” ลาออก และความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เริ่มไม่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ “รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้วิเคราะห์ผ่าน “สยามรัฐ” ถึงสถานการณ์การเมืองปี 2565 ซึ่งเป็นปีเสือว่า จะเป็นปี “เสือดุแน่นอน” การเมืองมีแนวโน้มจะร้อนแรงมากขึ้น หากไม่มีการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองที่สำคัญ คือ “รัฐธรรมนูญ 2560” -มองการเมือง ปี 2565 จะร้อนแรงกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา หรือไม่ ปี 2565 คิดว่าการเมืองมีแนวโน้มจะร้อนแรงมากขึ้นกว่าปี 2564 มีหลากหลายประเด็นที่ต้องจับตา โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การเมืองในสภา ซึ่งยังมีหลากหลายประเด็นจะเข้าสู่สภา อาทิ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะกำหนดเรื่องวิธีการ เงื่อนไข และหลักการเลือกตั้ง เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับการเลือกตั้งที่รออยู่ข้างหน้า และยังมีกฎหมายสำคัญอื่นๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการเงิน การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อีกครั้งในการลงชื่อของประชาชน หากสามารถทำได้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองในสภาเป็นที่จับตามอง นอกจากนี้ จะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ของภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำหลัก อาจจะมีโอกาสได้เห็นการขยับปรับเปลี่ยนของกลุ่มต่างๆ อีก เพราะในปีหน้าจะเตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครบวาระ ที่รออยู่ช่วงต้นปี 2566 หรือการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน เนื่องด้วยอุบัติเหตุทางการเมืองต่างๆ จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะพรรคแกนนำหลักของรัฐบาล ซึ่งปกติพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ได้มีเรื่องของความเป็นเอกภาพอยู่แล้ว ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ จะเริ่มเคลื่อนไหว เพราะทุกพรรคต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง ส่วนพรรคขนาดเล็ก ก็อาจจะมีการอพยพย้ายพรรคไปสู่พรรคใหญ่ เพื่อหนีกติกาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว คือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในส่วนพรรคฝ่ายค้านจะเห็นการเคลื่อนไหว หรือเสนอกฎหมายต่างๆ หรือญัตติต่างๆ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการเลือกตั้ง ฉะนั้นเราจะเห็นการเคลื่อนไหวเหล่านี้ในสภา สำหรับการเมืองนอกสภา ประเด็นสำคัญที่จะเกิดขึ้น คือ เรื่องนายกรัฐมนตรี 8 ปี ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ ถ้าหากนายกฯ ยังคงอยู่จนถึงเวลานั้น เราอาจจะเห็นคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยเรื่องนายกฯ 8 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในรัฐธรรมนูญ คงต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร จะชี้ทิศทางการเมืองไทย และทิศทางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนนตรี เองด้วย สำหรับการเลือกตั้งในปีหน้าที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นภาพสะท้อนไปสู่การเมืองระดับชาติได้ ทั้งการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ เพราะสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นสนามเลือกตั้งที่คนให้ความสนใจอย่างมาก ทุกสมัยก็ชี้วัดการเมืองระดับชาติ ทั้งในลักษณะการสนับสนุน หรือเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเมืองระดับชาติ หรือการเป็นคู่ตรงข้ามกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งเป็นสนามเลือกตั้งที่น่าจับตา -การเคลื่อนไหวของม็อบต่างๆ จะเป็นอย่างไรจากนี้ไป แกนนำถูกจับไปหลายคน การชุมนุมที่เกิดขึ้นนอกสภา มีโอกาสจะกลับมาอีกครั้ง ถ้าประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือโควิด-19 ไม่ดีขึ้น และส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน หรือส่งผลต่อรายได้ และเศรษฐกิจต่างๆ ก็จะเห็นการขยับของผู้ชุมนุมก็ได้ แต่อาจจะไม่ใช่ผู้ชุมนุมที่เป็นแกนนำหน้าเดิม เพราะวันนี้แกนนำถูกจับกุม คุมขัง มีเรื่องการใช้กฎหมาย ถูกดำเนินคดี ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นการชุมนุมจากกลุ่มคนใหม่ๆ วันนี้เราก็ได้เห็นแล้ว เช่น การชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นภาพที่ถูกใช้อำนาจรัฐสลายการชุมนุม และลักษณะของคนที่มีความเดือดร้อนต่างๆ มีโอกาสรวมตัวเป็นเครือข่าย เกิดเป็นแนวร่วม รวมตัวกันขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลุ่มเดิม ก็ยังมีโอกาสเห็นการชุมนุม หรือเกิดลักษณะการเป็นแนวร่วมด้วยเช่นเดียวกัน -ความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล ยังประคับประคองไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาล ไม่สามารถคาดหวังถึงเสถียรภาพได้อยู่แล้ว ภายใต้ภาวะรัฐบาลผสม และภายใต้กติกา เช่น รัฐธรรมนูญ 60 ทำให้พรรคการเมืองมีความอ่อนแอ จึงมีโอกาสที่จะเห็นการเคลื่อนไหว ทั้งการต่อรองภายในของแต่ละพรรค โดยเฉพาะพรรคแกนนำหลัก เช่น พรรคพลังประชารัฐ และการต่อรองภายนอกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อไหร่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง การสลับปรับเปลี่ยนตำแหน่ง การปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือมีการเปลี่ยนแปลงในลักษระการเลือกตั้ง ก็จะเห็นการเคลื่อนแบบนี้เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่มีโอกาสที่จะมีเสถียรภาพทางการเมืองในรัฐบาลผสม และการมีภาวะลุ่มๆ ดอนๆ มาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล และคงจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาโดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือบารมีทางการเมือง เช่น พรรคพลังประชารัฐ ใช้บารมีของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ก็อาจจะไม่เพียงพอ การที่จะทำให้การเดินหน้าของพรรคพลังประชารัฐมีความยั่งยืน รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่จะเกิดเสถียรภาพได้ -รัฐบาลจะอยู่จนครบเทอมตามที่นายกฯ ประกาศหรือไม่ คิดว่าไม่ง่ายที่จะถึงจุดนั้น สิ่งที่นายกฯ พูด อาจจะเป็นความคาดหวัง และอาจเป็นสิ่งที่พูดตามกติกาทางการเมืองปกติที่จะครบวาระในช่วงเดือนมีนาคม 2566 แต่เส้นทางตรงนี้ การเมืองไทยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาจจะเปลี่ยนแปลงในลักษณะยุบสภา ลาออก หรือรัฐประหาร ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้หมดสำหรับการเมืองไทย -กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะมีโอกาสเห็น “บิ๊กเนม” กลับมาลงสนามเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน การใช้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีโอกาสที่จะเห็นพรรคการเมือง ในลักษณะเป็นพรรคการเมืองพรรคใหญ่ จึงมีความเป็นไปที่จะเห็น “บิ๊กเนม” กลับมาได้ เช่น การเลือกตั้งปี 2562 ภายใต้กติกาของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ไม่สามารถชี้วัดเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนได้ เพราะในการกาของประชาชนหนึ่งครั้ง มีหลายการตัดสินใจอยู่ในนั้นมาก ทั้งการเลือกแคนดิเดต นายกฯ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หรือการเลือกนโยบายพรรค ฉะนั้นจึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ตกลงประชาชนที่ไปเลือก เลือกจากอะไร และที่สำคัญบรรดาคนที่มีชื่อเสียง ในหลายพรรคการเมืองไม่สามารถเข้ามาสู่สภาได้ เช่น พรรคเพื่อไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้เลยสักที่นั่งเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนสู่ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคู่ขนาน จะทำให้โอกาสของส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็น “บิ๊กเนม” อาจจะกลับเข้าสู่สภาฯ ได้อีกครั้งหนึ่ง และด้วยภาวะของการเมืองที่เรียกว่า อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ การที่มีบุคคลที่ห่างหายจากการเมืองนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 มีความเป็นไปได้ที่จะกลับเข้าสู่การเมือง หรืออีกส่วนเป็นในลักษณะการทำงานอยู่เบื้องหลังการเมือง โดยการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาแทน -ปี 2565 เป็นปีเสือ มองว่า เสือจะดุร้ายหรือไม่ ผมว่ามีโอกาส เพราะในปี 2565 มีทั้งภาวะเศรษฐกิจ ที่มีปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาตลอดหลายปี ผนวกกับสถานการณ์เศรษฐกิจกับโควิด-19 หรือประเด็นปัญหาทางสังคม เรื่องระบบสาธารณสุข การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 กลับมาอีกหรือไม่ ถ้ากลับมาอีก ประเด็นเรื่องวัคซีน เรื่องยา จะกลายเป็นประเด็นร้อนเหมือนช่วงปี 2563-2564 หรือไม่ ตรงนี้จึงบอกได้ว่า “เสือดุ” แน่นอน และในทางการเมืองมีหลายเรื่องหลายประเด็นที่จะต้องติดตาม โดยเฉพาะประเด็นไฮไลท์ คือ นายกฯ 8 ปี ซึ่งจะชี้ทิศทางการเมือง และทิศทางของพล.อ.ประยุทธ์ โดยกล่าวได้ว่า ปีเสือ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป. จะลงจากหลังเสือได้หรือไม่ หรือต้องอยู่บนหลังเสือต่อหรือจะโดนเสือดุทำร้าย -อยากฝากอะไร ถึงนักการเมือง สิ่งสำคัญที่สุด ณ วันนี้ สำหรับนักการเมือง ต้องนึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมองการเมืองในมิติใหม่ๆ เพราะการมองการเลือกของประชาชนวันนี้ ต้องบอกว่า เขามองการเมืองที่ก้าวไปมากกว่าการเมืองในสภา เพราะเราอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง” ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกลไกของระบบรัฐสภา ไม่สามรถตอบโจทก์หรือแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ และไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการ หรือข้อเรียกร้องจากประชาชนต่างๆ เช่นกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเรานับเฉพาะฉบับที่เสนอโดยประชาชน 2 ฉบับแล้ว คือฉบับของไอลอว์ และฉบับของรีโซลูชั่น มีประชาชนลงชื่อกันหลายแสนคน แต่เมื่อเข้าสู่สภา ปรากฏว่าคนที่ชี้วัดติดสินกลายเป็นกลุ่ม ส.ว. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ส.ส. ส่วนหนึ่งก็ไปเห็นพ้องกับบทบัญญัติหลายๆ ส่วน ซึ่งไม่ได้ตอบสนองหรือมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การทำหน้าที่ของบรรดาผู้แทนปวงชน ทั้งส.ส.และ ส.ว.ไม่ได้ยึดโยง หรือเชื่อมโยงอยู่กับประชาชน แต่เป็นการเชื่อมโยงกับโครงสร้างอำนาจของกลุ่มตนเองมากกว่า ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งนี้การเมืองไทยในปี 2565 เชื่อว่าไม่ได้เดินหน้าไปต่อมากนัก ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาที่ตัวโครงสร้างทางการเมืองที่สำคัญ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เป็นหัวใจหลักสำคัญ และอาจจะเป็นชนวนเกิดคามรุนแรงทางการเมือง รวมทั้งยิ่งทำให้ภาวการณ์แบ่งขั้วที่เรียกว่า “Political Polarization” ในสังคมไทยมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และหากปล่อยให้ยืดเยื้อก็จะยากที่จะแก้ไข