ว่ากันว่าเด็กซนคือเด็กฉลาด แต่เด็กซนคือเรื่องสยองขวัญของพ่อแม่หลายๆ คนเช่นกัน จนหลายครั้งที่ความดื้อของลูกและอารมณ์ของพ่อแม่ผสมปนเปกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่อันตรายและทิ้งรอยแผลเป็นฝังจิตใจของลูกน้อยและตัวคุณเอง
มาเรียนรู้อารมณ์ของกันและกันอย่างเข้าใจ รับมือได้อย่างถูกวิธี สังเกตและเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ ของลูกน้อย พร้อมเปลี่ยนความดื้อซนให้กลายเป็นพัฒนาการที่ดี ด้วยหนังสือแนะนำการเลี้ยงลูกจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ที่จะเล่าประสบการณ์ เผยข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวความคิด สอนความเข้าใจและหลักปฏิบัติที่เหมาะสม ให้คุณและลูกได้กลมเกลียวมากกว่าที่เคย
1. ลูกจ๋า อย่าทำให้ แม่คลั่ง
ผู้เขียน : Katja Seide และ Danielle Graf
นักแปล : พลอยแสง เอกญาติ
หนังสือ Best seller ที่เยอรมนี 2 ปีซ้อนเล่มนี้ที่ผู้ปกครองลูกน้อยควรมีติดบ้าน
พ่อแม่ถึงขั้นกุมขมับ เพราะไม่รู้ จะรับมือกับพฤติกรรมของลูกอย่างไร หนังสือ "ลูกจ๋า อย่าทำให้แม่คลั่ง" ผู้เขียนแนะนำให้รับมือด้วยวิธีสบาย ๆ ไม่เข้มงวด พร้อมทั้งยกตัวอย่างผลลัพธ์จากการเลี้ยงดูที่เข้าใจง่าย บ้านไหนก็ทำตามได้ อธิบายถึงพัฒนาการ ของเด็ก ทั้งยังบอกด้วยว่าทำไมวัย 0-5 ขวบจึงเป็นช่วงสำคัญของลูก พ่อแม่ควรยอมรับ พฤติกรรมของเด็กแทนที่จะพยายามปราบพยศหรือควบคุม นอกจากนี้ ยังสอดแทรกเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยที่ช่วยคลายความกังวลของพ่อแม่ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
2. เปลี่ยนนิสัยดื้อๆของลูกให้เป็นพรสวรรค์
ผู้เขียน : Tajina Eiko
นักแปล : จิตรลดา มีเสมา
เด็กบางคนอาจชอบส่งเสียงดังโวยวาย บางคนอาจชอบเล่นคนเดียว บางคนอาจชอบขว้างปาสิ่งของ นิสัยเหล่านี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลและคิดว่าลูกเป็นเด็กดื้อได้ ทั้งที่ในมุมหนึ่ง นิสัยเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ในตัวลูก เพราะทุกการกระทำของเด็กแต่ละคนล้วนมีความหมาย และถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าสิ่งที่ลูกทำหมายถึงอะไรก็จะช่วยให้เลี้ยงลูกได้ง่ายและเหมาะสมมากขึ้น ความเฉพาะตัวของลูกอาจพัฒนาไปเป็นจุดแข็งได้
3. ชมลูกให้ถูก ติลูกให้เป็น
ผู้เขียน : Shimamura Hanako
นักแปล : กิ่งดาว ไตรยสุนันท์
สำหรับเด็กคำชมเปรียบเหมือนรางวัล ส่วนคำตำหนิก็ไม่ต่างจากบทลงโทษ เมื่อผู้ใหญ่นำคำชมหรือคำตำหนิมาใช้ควบคุมพฤติกรรมของเขาโดยขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็ก ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นผลเสียที่กระทบต่อการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก หรือการเติบโตของเด็ก ๆ ในระยะยาว การเลี้ยงดูลูกให้เติบโตไปเป็นตัวของตัวเองนั้นอย่างแรกสุดผู้ใหญ่ต้องเคารพต่อตัวตนของเด็ก นั่นคือเข้าใจว่าพัฒนาการของเขามีมากน้อยแค่ไหน ขีดจำกัดความสามารถของแต่ละวัยคืออะไร คำพูดแบบไหนที่ผู้ใหญ่จะพูดกับเด็กเพื่อให้พัฒนาความสามารถหรือปรับปรุงตัวต่อไปได้อย่างแท้จริง
4. พ่อแม่จ๋า อย่าโกรธหนู
ผู้เขียน : Kouso Tokiko
นักแปล : กิ่งดาว ไตรยสุนันท์
เปลี่ยนแนวคิดการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ Best seller กว่า 4.8 ล้านเล่มในญี่ปุ่น
หยุด “ตี” และ “ดุ” ลูกได้แล้ว! พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างดีได้โดยไม่ใช้อารมณ์ หนังสือ “พ่อแม่จ๋า อย่าโกรธหนู” เล่มนี้เขียนโดย โทะกิโกะ โคโซะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูเด็กชาวญี่ปุ่น เนื้อหาในเล่มเขียนขึ้นเพื่อคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์เวลาต้องเลี้ยงดูลูก และรู้สึกผิดที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่จนนำไปสู่การตีหรือทำร้ายลูกโดยไม่ตั้งใจ ในเล่มนำเสนอแนวทางและวิธีการที่นำไปใช้ได้จริง เช่น การระงับอารมณ์ เทคนิคทำใจให้เย็นก่อนจะเผลอพลั้งมือ และวิธีรับมือกับลูกๆ พร้อมเจาะลึกกรณีตัวอย่างต่างๆที่พ่อแม่ทุกคนต้องพบเจอ เพื่อเตรียมพร้อมให้คุณรู้เท่าทันอารมณ์และเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขได้โดยไม่สร้างบาดแผลไว้ในใจ
5. รับมือกับลูกขี้โมโห
ผู้เขียน : Shoko Kanno
นักแปล : นิพดา เขียวอุไร
โชโกะ คันโนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เขียนเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ใช้เป็น "คู่มือเลี้ยงลูกขี้โมโห" ด้วยเทคนิค Anger Management หรือการบริหารจัดการอารมณ์โกรธอย่างถูกวิธี เธอเชื่อมั่นว่าทุกคน "จัดการ" กับความโกรธที่พลุ่งพล่านภายในใจได้ เพื่อให้ค่อย ๆ เปลี่ยนบุคลิก มีสติเมื่อโกรธ และแสดงอารมณ์โกรธในรูปแบบที่ตัวเองจะไม่เสียใจภายหลัง เนื้อหาในเล่มมีทั้งการอธิบายว่าทำไมเด็กๆ (และผู้ใหญ่) จึงโมโห วิธีรับมือเด็กเจ้าอารมณ์ สารพันเทคนิคเรียบง่ายเพื่อสยบความโกรธ รวมทั้งแบบฝึกหัดที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูนำไปทดลองใช้กับเด็ก ๆ ในชีวิตประจำวันหรือในชั้นเรียนได้ทันที
เปลี่ยนเด็กขี้ดื้อให้กลายเป็นประสบการณ์เรียนรู้ ควบคู่กับการปรับความเข้าใจ เมื่อเราสอนอย่างถูกวิธี แนวคิดดี ๆ จะติดตัวลูกต่อไป มาอ่าน 5 หนังสือดี ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนการเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับลูก ๆ ของเราตั้งแต่เนิ่น ๆ รับรองว่าลูกของเราจะฉลาด สมวัย และจิตใจแข็งแรง ออกผจญภัยใช้ชีวิตกับโลกภายนอกได้อย่างมีความสุข