เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 ธ.ค.64 ที่วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมกับวัดไชโยวรวิหารจัดประเพณี“ กวนข้าวทิพย์” โดยมีพุทธสนิกชน คณะครู และ นักเรียนเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป ประกอบพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีที่มีมาตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาล พระครูวิบูลย์สังฆกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระอารามหลวง รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดไชโยวรวิหารกล่าวว่า การกวนข้าวมธุปายาส หรือข้าวทิพย์ เป็นกิจกรรมสำคัญตามพุทธประวัติ เป็นข้าวทิพย์ที่นางสุชาดา บุตรีของมหาเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล จัดปรุงขึ้นแล้วนำไปถวายพระมหาบุรุษด้วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเทวดา ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งหลังจากพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ก็ได้ทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณในย่ำรุ่งของคืนนั้นเอง ชาวบ้านจึงเชื่อว่า ข้าวมธุปายาสเป็นอาหารทิพย์ เป็นโอสถขนานเอก บันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้บริโภคด้วย โดยการกวนข้าวทิพย์ตามพุทธประเพณีโบราณ ล้วนมีองค์ประกอบและขั้นตอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการกำหนดให้คนกวนต้องเป็นสาวพรหมจรรย์เท่านั้น ขณะที่ภายในมณฑลพิธียังมีข้อห้ามอีกหลายประการ อาทิ ห้ามดื่มสุรา ห้ามรับประทานอาหาร ห้ามสวมรองเท้า ห้ามผู้มีโรคสังคมรังเกียจ ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนหรือมีครรภ์เข้าไปอย่างเด็ดขาด และตลอดช่วงเวลาของการทำพิธีจะต้องมีการบวงสรวงลงเลขยันต์ทุกขั้นตอน ส่วนพิธีกวนข้าวทิพย์ ต้องมีการเตรียมข้าวของต่างๆ จำนวนมาก ทั้งนม เนย ข้าวตอก น้ำนม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง มะพร้าว งา ถั่วต่างๆ นำมากวนรวมกันในกระทะใบบัวตั้งบนเตาไฟใช้ฟืนจากไม้ชัยพฤกษ์เป็นเชื้อเพลิง ใช้เวลากวน ประมาณ 6-8 ชั่วโมงด้วยกรรมวิธีต่างๆ เหล่านี้ ทำให้พิธีกวนข้าวทิพย์เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่า หากได้นำข้าวทิพย์ไปรับประทานหรือบูชา ย่อมเกิดมงคลต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง